posttoday

ผลวิจัยชี้พัฒนาการเด็กไทยแย่ลง

24 ตุลาคม 2555

ผลวิจัยสมรรถนะเด็ก 3-5 ปีพบสอบตกด้านความจำ บอกเบอร์โทรพ่อแม่ไม่ได้ แยกสภาวะร้อน-เย็น-หนัก-เบาไม่ได้ ด้านคุณธรรมคิดถึงแต่ตนเอง

ผลวิจัยสมรรถนะเด็ก 3-5 ปีพบสอบตกด้านความจำ บอกเบอร์โทรพ่อแม่ไม่ได้ แยกสภาวะร้อน-เย็น-หนัก-เบาไม่ได้ ด้านคุณธรรมคิดถึงแต่ตนเอง

นายเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัย 3-5 ปี เปิดเผยว่า มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. จัดทำวิจัยและพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัย ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยพบว่า สมรรถนะเชิงพฤติกรรมของเด็กถูกละเลยในบางเรื่อง ทำให้พัฒนาการตามวัยไม่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนมาก เช่น เด็กไม่สามารถพับกระดาษได้ เพราะไม่ได้ฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดเล็ก สำหรับพัฒนาการด้านการคิดและสติปัญญาจะพบว่า เด็กในวัย 3-5 ปี ไม่สามารถบอกหมายเลขโทรศัพท์ที่บ้านหรือหมายเลขฉุกเฉินได้เลย ทั้งที่ในต่างประเทศผู้ใหญ่จะสอนให้เด็กจดจำรายละเอียดเหล่านี้ได้ หากเด็กพลัดหลงก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ข้อมูลด้านการพัฒนาทางสังคม จะพบว่า  เด็กอายุ 3 ปี รู้จักช่วยเหลือเพื่อน 61.93% เด็กอายุ 4 ปี  80.28% และเด็กอายุ 5 ปี ทำได้เพียง 33.33% ขณะที่ผลการสังเกตพฤติกรรมว่าเด็กสามารถบอกได้หรือไม่ว่า การกระทำของตนเองมีผลต่อความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้อื่น พบว่า เด็กอายุ 4 ปี ทำได้เพียง 1.04% ส่วนเด็ก 3 และ 5 ปี ไม่สามารถทำได้เลย เมื่อสังเกตพัฒนาการเกี่ยวกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดี กรณีเด็กไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตนเอง เช่น เก็บของเพื่อนไปคืนให้เพื่อนหรือครู  จะพบว่า เด็กอายุ 3 ปี สามารถทำได้ 74.62% เด็กอายุ 4 ปี 68.75% ขณะที่เด็กอายุ 5 ปี นั้นวัดผลไม่ได้ เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถทำได้เลย ซึ่งสะท้อนภาพรวมด้านคุณธรรม จริยธรรมที่เด็กยังแยกแยะความรู้สึกผิดชอบชั่วดีไม่ออก ซึ่งจะติดตัวไปจนโต นอกจากนี้ยังพบสิ่งที่น่าตกใจคือ เด็กทั้ง 3 กลุ่ม ไม่สามารถบอกลักษณะของสิ่งของ เช่น ร้อน ยาว หนัก ใหญ่ได้เลย และเด็กไม่สามารถบอกได้ว่าช่วงเวลาไหนเป็นเวลาเมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ วันนี้ได้อย่างถูกต้อง

ด้าน รศ.ดร.สายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเสริมสร้างสมรรถนะของเด็กปฐมวัยที่พ่อแม่และครูสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้ 1.พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปสู่มัดเล็ก จากหัวไปสู่เท้า เด็กเล็กจะพัฒนากล้ามเนื้อทั้งตัว ก่อนจะได้รับการเรียนรู้ หากเด็กสอนไม่ได้ อย่าไปตีเด็ก ครูควรนำตัวชี้วัด 419 ข้อที่โครงการพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัย 3-5 ปีจัดทำขึ้นมาใช้เป็นแนวทางในการสอนมากกว่านำมาประเมินเด็ก

2.เด็กชอบการเรียนรู้ด้วยสัมผัส อยากรู้อยากเห็น ในต่างประเทศครูและพ่อแม่ จะสร้างสิ่งแวดล้อม กระตุ้นประสาทสัมผัสให้ประสานกันทำงาน จะทำให้เด็กสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ เรียนรู้  และรับรู้จากประสบการณ์ เมื่อขาดประสบการณ์ก็จะตีความผิด ดังนั้นการรับรู้จึงสำคัญมากต่อการเรียนรู้ พ่อแม่ ครูจำเป็นต้องชี้แนะ

และ 3. มันสมองของเด็กปฐมวัย เจริญเติบโตมากกว่าส่วนอื่นถึง 90% และสมองของเด็กทำงานมีประสิทธิภาพที่สวยงาม ดังนั้นพ่อแม่ต้องกระตุ้นให้สมองเด็กได้เรียนรู้สิ่งเร้า และสื่อต่างๆ โดยไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อลำพัง ต้องคอยบอกสอน อธิบายให้เข้าใจตลอดเวลา บางครั้งเด็กสนใจอยากเรียนรู้ แต่ผู้ใหญ่ปิดกั้น ห้ามเด็กซน ดุว่า เราฝึกคนไทยให้โง่ตั้งแต่เด็กๆ จะเห็นได้ว่า เด็กที่เรียนในระดับสูงขึ้น เอาแต่จด แต่ไม่รู้จักตั้งคำถาม คอยแต่จะจดไปทำข้อสอบให้ได้ แต่ไม่ได้มีความรู้

นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กปฐมวัยประมาณ 17 ล้านคน คิดเป็น 22% ของประชากรทั้งประเทศ แต่จากข้อมูลของกลุ่มอนามัยแม่และเด็ก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2535-2554 พบว่า เด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการปกติลดลง จากประมาณ 80% ลดลงตามลำดับจนถึงปี 2554 เหลือประมาณ 70% นี่เป็นวิกฤตที่เราต้องทำงานอย่างจริงจัง อย่าคิดว่าเราเป็นเพียงครูผู้ดูแลเด็กในพื้นที่เพราะเราเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการดูแล พัฒนาเด็กไทย ให้เติบโตอย่างมีความสุขและมีสุขภาพที่ดี และจะเป็นกำลังสำคัญในพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต