posttoday

สภาฯรับพิจารณาร่างกม.ป้องกันทารุณสัตว์

17 ตุลาคม 2555

สภารับพิจารณา ร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เผยมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

สภารับพิจารณา ร่างพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เผยมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.......  ที่กระทรวงเกษตรฯเสนอนั้นขณะนี้สภาผู้แทนราษฏร์ ได้พิจารณาและรับหลักการในวาระแรกแล้ว  หลังจากนี้ก็จะเข้าสู่ขบวนการออกกฎหมายต่อไป โดยการตั้งคณะกรรมาธิการในวาระที่สอง และวาระที่สาม ซึ่งคาดว่าร่างพรบ.นี้จะได้รับการพิจารณาออกมาบังตับใช้โดยเร็วเพื่อคุ้มครองสวัสดิ์ภาพสัตว์ ซึ่งสังคมไทยได้รณรงค์ไม่ให้มีการทารุณสัตว์มาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ร่างพรบ.ดังกล่าวมีด้วยกัน  31 มาตรา  กำหนดให้ซึ่งมีหลักการและเหตุผลเพื่อคุ้มครองสัตว์ มิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือใช้ในการแสดง โดยกำหนดให้กลุ่มองค์กรนิติบุคคลที่ทำงานด้านสัตว์ต้องขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรจัดการสวัสดิภาพสัตว์อย่างถูกต้อง และให้จัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ ในทุกภูมิภาคของประเทศต่อกรมปศุสัตว์  โดยกฏหมายฉบับนี้มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้รักษาการ

สำหรับสัตว์ในความหมายของพรบ.ดังกล่าว หมายถึงสัตว์ทุกชนิดเช่นสุนัข แมว โค กระบือ ม้า สุกร เป็ด ไก่ หรือสัตว์เลี้ยงอื่นที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ แต่ไม่รวมสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และสัตว์น้ำของกฎหมายประมงที่มีการคุ้มครองเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว 

โดยจะมีคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งคณะคือ คณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิ์ภาพสัตว์ มีปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน  มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นที่ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมประมง  อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯตั้งไม่เกิน  4 คน  ที่พิจารณาจากคณบดีคณะสัตวแพทย์ ผู้แทนสมาคม หรือมูลนิธิซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิ์ภาพสัตว์ ผู้แทนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์  หรือผู้แทนสถานสงเคราะห์สัตว์  โดยคณะกรรมการมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย  และแผน มาตรการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย  กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทำงานไปตามกฎหมายนี้

เป้าหมายสำคัญของกฎหมายคือห้ามไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการทารุณสัตว์โดยไม่มีเหตุผล   แต่การกระทำดังดังต่อไปนี้ไม่ถือเป็นการทารุณสัตว์ตามกฎหมาย เช่น การฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ทั้งนี้เฉพาะสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงเป็นอาหาร   การฆ่าตามกฏหมายการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์  การฆ่าเพื่อคุมโรคระบาด การฆ่าในกรณีสัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บและไม่สามารถเยียวยาหรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทรมาน  การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อของศาสนา  การฆ่าเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายมนุษย์หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันการเกิดความเสียหายของทรัพย์สิน   การตัด หู หาง ขน เขา หรืองา  โดยมีเหตุสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์  การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น การอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ  และอื่นๆตามที่รัฐมนตรีประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

สำหรับบทกำหนดโทษในหมวด 7 บทกำหนดโทษมาตรา  28 กำหนดว่าผู้ใดฝ่าฝืนทรมานสัตว์ ซึ่งไม่อยู่ในข้อยกเว้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1ปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  กรณีเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ดูแลจัดหาอาหารและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ หรือขนส่งสัตว์หรือการนำสัตว์ไปจัดแสดงดำเนินการไม่เหมาะสม มีโทษปรับไม่เกิน 2หมื่นบาท  ผู้ใดไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบสถานที่ เอการ ยึด หรืออายัดสัตว์หรือซากสัตว์ อุปกรณ์กระทำผิด หรือนำสัตว์ที่ถูกทารุณไปรักษา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1หมื่นบาท