posttoday

เด็ก14ขายยาบ้าเลี้ยงน้อง บทเรียนหลังการปราบปราม

17 ตุลาคม 2555

ยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่บ่อนเซาะทำลายทำร้ายสังคมอย่างหนักหน่วงแสนสาหัส การป้องกันและปราบปรามจึงเน้นไปที่การสกัดผู้เสพและผู้ขาย

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ที่บ่อนเซาะทำลายทำร้ายสังคมอย่างหนักหน่วงแสนสาหัส การป้องกันและปราบปรามจึงเน้นไปที่การสกัดผู้เสพและผู้ขาย แต่บทเรียนที่เกิดขึ้นกับเด็กชายวัย 14 ปี ซึ่งถูกจับกุมฐานค้ายาบ้า เพื่อหาเงินเลี้ยงน้องอีก 2 คน เพราะพ่อแม่ที่เคยเป็นผู้ค้ายาถูกตำรวจกดดันอย่างหนักจนต้องหลบหนีไป เมื่อสิ้นไร้คนดูแล เด็กน้อยก็ต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง แม้รู้ว่าเป็นหนทางผิด

บทเรียนนี้ทำให้ทุกฝ่ายต้องกลับมาทบทวนว่า นอกจากการกดดันปราบปรามแล้ว มาตรการหลังปราบนั้นก็สำคัญอย่างมาก เพื่อมิให้ผู้ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับวงจรยาเสพติด โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ค้ายา ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีก

เรื่องสะเทือนใจนี้เกิดขึ้นในท้องที่ สภ.เมืองสมุทรปราการ เมื่อตำรวจเจ้าของพื้นที่ได้รับแจ้งจาก ชูชาติ ดุลยปภัสศร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.ท้ายบ้านใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ ที่ได้รับตัว ด.ช.เอ(นามสมมุติ) วัย 14 ปี ขณะกำลังนำยาบ้าเดินขายภายในซอยสินสมบูรณ์ สอบถามไปก็ตกใจว่าทำไมอายุเพียงแค่ 14 ปี ริอาจจะเป็นพ่อค้ายาบ้า

“เด็กบอกว่ามีน้องอีกสองคนต้องเลี้ยง น้องชาย 4 ขวบ น้องสาว 2 ขวบ พ่อแม่ก็ทิ้งไปได้ 3 เดือน ถามไปว่าทำไมพ่อแม่ทิ้ง เด็กบอกว่าทิ้งไปเพราะหนีคดียาเสพติด ทำให้ไม่รู้จะไปพึ่งใคร” ผู้ใหญ่ชูชาติ เล่าให้ฟัง

เมื่อไปที่บ้านเด็กก็พบว่าเป็นจริงดังว่า เด็กน้อยอีก 2 คนอยู่กับน้าสาวของ ด.ช.เอ ซึ่งน้าสาวผู้นี้จะช่วยเลี้ยงน้องทั้งสองในขณะที่ ด.ช.เอ ออกเดินสายขายยานรก โดยน้าสาวผู้นี้จะได้ยาบ้า 1 เม็ด เป็นค่าตอบแทนที่ช่วยเลี้ยงน้อง

เด็ก14ขายยาบ้าเลี้ยงน้อง บทเรียนหลังการปราบปราม

 

แล้ว ด.ช.เอ เอายามาจากไหน ทำไมถึงต้องก้าวเดินเข้าสู่วงจรชีวิตที่น่าหดหู่เช่นนี้???

ผู้ใหญ่ชูชาติ เล่าว่า แต่เดิมตั้งแต่พ่อแม่ทิ้ง ด.ช.เอ และน้องๆ ไป ก็ได้อาศัยข้าวจากข้างบ้านที่ขอกันกิน แต่มากเข้านานวันก็รู้สึกเกรงใจ จึงคิดวิธีหาเงินเอง ประกอบกับในชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่เป็นแหล่งค่อนข้างเสื่อมโทรม ด.ช.เอ จึงไปติดต่อเพื่อนรุ่นพี่ที่ขายยาบ้าอยู่ โดยขอให้เพื่อนใช้เครดิตขอยาบ้ามาก่อนวันละ 20 เม็ด ในราคาเม็ดละ 150 บาท และ ด.ช.เอ จะนำไปขายต่อบวกเพิ่มกำไรอีกเม็ดละ 30 บาท ตกวันนึงจะได้เงินประมาณ 600 บาท

“พอผมกับตำรวจไปเอาตัวมา เด็กก็รับสารภาพเลย ร้องไห้บอกแต่ว่ากลัว รู้ว่าผิดกฎหมาย ก็ได้แต่บอกว่าไม่มีทางเลือก จะให้ทำอย่างไรในเมื่อพ่อแม่ก็ทิ้งไป ไม่รู้ไปอยู่ไหน น้าสาวที่มีอยู่คนเดียวก็ติดยา ขอข้าวเขากินน้องก็ไม่อิ่ม ตัวเองก็หิว แต่ยินดีจะเลิกทุกอย่าง เลิกค้าเลิกขายยาทันที” ผู้ใหญ่ชูชาติ กล่าว

ด.ช.เอ จึงต้องเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูตามระบบในโครงการรีไซเคิลเยาวชน ฟื้นฟูสภาพจิตใจไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ส่วนน้องๆ อีก 2 คน จะมีการประสานไปยังสำนักงานสังคมสงเคราะห์ให้เข้ามาช่วยเหลือดูแล เพื่อกันทั้งหมดให้ออกจากวงจรยาเสพติด ส่วนพวกที่เหลือก็ต้องปล่อยเป็นหน้าที่การจัดการของตำรวจเพื่อจับกุมดำเนินคดีต่อไป

แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจ ที่พ่อแม่ของเด็กๆ ในครอบครัวนี้ต้องทิ้งไป เพราะถูกกดดันจากตำรวจทำให้พ่อแม่ต้องออกจากพื้นที่ เนื่องจากมีคดีพัวพันกับยาเสพติด ทิ้งไปชนิดที่ว่าเก็บของแล้วออกจากบ้านทันที ปล่อยให้ลูกน้อยทั้ง 3 คน ต้องเผชิญชะตากรรมอย่างเดียวดายไร้ที่พึ่ง และเชื่อได้แน่ว่าเหตุการณ์ในลักษณะข้างต้นต้องเกิดขึ้นมาแล้วอีกหลายครั้ง

ตำรวจจะต้องมีมาตรการที่จะต้องเข้าไปดูแลครอบครัวของผู้ต้องหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ต้องเคว้งคว้าง

สงวนศักดิ์ ศรีวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลเฝ้าระวัง สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 1 พูดถึงประเด็นนี้ว่า การเข้าไปช่วยเหลืออย่างในกรณีของเด็กวัย 14 ปีนั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ซึ่งแน่นอนว่ามีการรองรับจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคมหรือการสงเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่หลงผิด แต่การแก้ไขที่ต้นเหตุต่างหากที่น่าจะต้องมีมาตรการที่เด่นชัด

ผู้อำนวยการ ป.ป.ส. ภาค 1 เห็นว่าการแก้ปัญหาต้องเริ่มจากภาคสังคมในชุมชนต้องมีความเข้มแข็ง สร้างงานสร้างอาชีพอย่างสุจริตชน ทำให้คนในชุมชนหลีกเลี่ยงจากยาเสพติด ลักษณะเป็นการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งจากประชาชน ฝ่ายป้องกันปราบปราม และฝ่ายปกครอง

“หากครอบครัวเข้มแข็ง แน่นอนว่าสมาชิกภายในครอบครัวก็ต้องเข้มแข็งตามไปด้วย ปัญหายาเสพติดที่ตกมาถึงเยาวชน ทั้งเป็นผู้เสพ ผู้ค้า ก็จะไม่เกิดขึ้น ปัญหาที่ปลายเหตุแก้ได้แน่นอน แต่ต้นเหตุที่ต้องมีรากฐานความเข้มแข็งจากชุมชนส่งต่อไปยังครอบครัวของพื้นที่ ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า” สงวนศักดิ์ ทิ้งท้าย

บริบทท้ายสุดแม้ว่า ด.ช.เอ จะได้รับการเยียวยาจากภาคส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัญหาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ ต้องบูรณาการแก้ไขร่วมกันอย่างแข็งขัน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งต่อสู้กับยาเสพติดที่คืบคลานเข้ามาทำร้ายสังคมอย่างต่อเนื่อง