posttoday

เด็กไทยวิกฤตแม่วัยใสพุ่ง20%

16 ตุลาคม 2555

“ทีดีอาร์ไอ” อนาคตเด็กไทยน่าวิตก เด็กท้องพุ่ง 20%

“ทีดีอาร์ไอ” อนาคตเด็กไทยน่าวิตก เด็กท้องพุ่ง 20%

นางจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนในประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อจัดทำรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ปี 2553 พบว่ามีแนวโน้มปัญหาเพิ่มความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น
นอกจากนี้ มีข้อน่าห่วงใยหลายประการ ได้แก่ การที่เด็กและเยาวชนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้เกิดจากสาเหตุการหย่าร้างเช่นในอดีต แต่เกิดจากพ่อแม่ต้องไปทำงาน จึงให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายายหรือฝากคนอื่นดูแลแทน ทำให้มีปัญหาความอบอุ่นและช่องว่างการสื่อสารระหว่างวัยของเด็กกับปู่ย่าตายายที่ดูแล

ทั้งนี้ ในขณะที่การเข้าถึงการสื่อสารสมัยใหม่ทั้งโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ทำให้อาจเกิดการใช้อย่าง|ไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมเลียนแบบหรือ|คึกคะนอง เด็กจึงอาจจะเติบโตขึ้นมาอย่างไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร รวมถึงการที่ไทยมีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทย ความกตัญญูกตเวทีและการดูแลปู่ย่าตายาย

นางจิราภรณ์ กล่าวว่า ยังพบปัญหาแม่วัยใสที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ แต่อัตราแม่วัยใสก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ คือเพิ่มขึ้นถึง 20% ของคนคลอด (อายุต่ำกว่า 19 ปี) ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก และหากเกิดขึ้นในกลุ่มคนระดับล่างที่ไม่มีศักยภาพดูแลทั้งตัวเองและครอบครัวก็จะทำให้ไม่อาจหลุดพ้นจากวังวนเดิมๆ ได้

“เช่น ครอบครัวในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร มีเด็กหญิงชั้น ป.3 ยังอ่านเขียนไม่ได้ และไม่อยากไปโรงเรียน มียายอายุราว 30 ปีเท่านั้น |ทั้งแม่และยายมีการศึกษาระดับพื้นฐาน แต่ด้วยครอบครัวต้องดิ้นรนจึงไม่มีเวลาสอนการบ้านเด็ก เด็กคนนี้จะสามารถหลุดพ้นจากภาวะความยากจนด้วยการได้รับการศึกษาที่ดีจึงเป็นไปได้ยาก” นักวิจัย ระบุ

นางจิราภรณ์ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาสถานการณ์ความยากจนเด็กไทย มีหลายเรื่องไม่ได้เกี่ยวกับการขาดแคลนเงิน เช่น การให้นมบุตร (ทารกอายุ 6-11 เดือน) แต่เป็นเรื่องการจัดสรรเวลา และความสะดวกของแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน และจากการศึกษาความขาดแคลนในเด็กและเยาวชนระหว่างปี 2549-2551 พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเด็กและเยาวชนขาดแคลนในระดับรุนแรงสูงที่สุด