posttoday

ชุมนุมแบบไหน ไม่ผิดกฎหมาย

23 มีนาคม 2553

ทำให้การจราจรเมืองกรุงเป็นอัมพาตติดหนึบเป็นตังเม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย แม้แกนนำผู้ชุมนุมจะบอกว่าเป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย

ทำให้การจราจรเมืองกรุงเป็นอัมพาตติดหนึบเป็นตังเม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย แม้แกนนำผู้ชุมนุมจะบอกว่าเป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย

โดย....อิทธิกร เถกิงมหาโชค

การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อเนื่องกันข้ามสัปดาห์แล้ว มีหลายครั้งที่แกนนำพาผู้ชุมนุมดาวกระจายออกนอกพื้นที่ชุมนุมเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ออกไปกดดันบุคคลและสถานที่สำคัญต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการบุกเทเลือดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโดยกลุ่มผู้ชุมนุมย่อยๆรวมถึงการดาวกระจายเคลื่อนขบวนไปทั่วกรุงเทพฯวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา

จนทำให้การจราจรเมืองกรุงเป็นอัมพาตติดหนึบเป็นตังเม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมาย แม้แกนนำผู้ชุมนุมจะบอกว่าเป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่คงลืมไปว่าการใช้สิทธิครั้งนี้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปทั่ว

ในท่ามกลางสถานการณ์ล่อแหลมนาทีนี้ผู้ชุมนุมจึงต้องตระหนักด้วยว่า ระหว่างวันที่ 11-23 มี.ค. ยังอยู่ในระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่เป็น "ศูนย์กลาง"การชุมนุม ยิ่งต้องทำความเข้าใจต่อกติกาที่สมควรปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้การชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากความรุนแรงและการสูญเสีย...

พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริโฆษกศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) วิเคราะห์แนวทางไว้น่าสนใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเข้าใจเรื่องสิทธิการชุมนุมโดยสงบ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ให้สิทธิเสรีภาพไว้ในที่ต่างๆมากขึ้น แต่ผู้ชุมนุมไม่ว่ากลุ่มใด สีไหน ก็ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นด้วย

การชุมนุมสามารถทำได้ แต่ต้องไม่รบกวนจนคนอื่นเดือดร้อนจนเกินไป เช่น การปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ หรือบุกรุกทำลายทรัพย์สินราชการซึ่งเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน เจ้าหน้าที่เองก็พยายามเข้าใจ ใช้ความละมุนละม่อมเพื่อแก้ไขสถานการณ์

มุมมองนี้ก็สอดคล้องกับ "คู่มือการชุมนุม"ของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือ ศอ.รส. ที่ยกระดับจากศูนย์ปฏิบัติการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เพื่อดูแลปัญหาการชุมนุมโดยเฉพาะ

คู่มือที่มีการแจกจ่ายเผยแพร่ถึงประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง มากกว่า 1 หมื่นชุด มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยต่อการชุมนุม ไม่ได้มุ่งหมายที่จะ "ห้าม" ไม่ให้มีการชุมนุมแต่เป็นกรอบความคิดร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ชุมนุม เพื่อให้เกิดการชุมนุมโดยสันติจะถูกต้องกว่า !!!

คู่มือฉบับแรกจัดทำโดย กอ.รมน.ซึ่งพยายามชี้แจงให้ผู้ชุมนุมทราบถึงขอกำหนด ข้อห้าม และข้อบังคับต่างๆ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ให้ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในเขต กทม.และปริมณฑลโดยมีกฎหมายยาวเหยียดอีกถึง 18 ฉบับ ที่ใช้บังคับในพื้นที่เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

แนวทางการดูแลสถานการณ์ มุ่งเน้นมาตรการป้องกัน เบื้องต้น ศอ.รส.ยังคงให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจ คือ บช.น. และ กรุงเทพมหานคร (กทม.)เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการดูแลและรักษาสถานการณ์ ส่วนฝ่ายทหารก็จัดเตรียมกำลังในขนาดที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มเติมเสริมการปฏิบัติตามความจำเป็นของสถานการณ์

ส่วนทาง บช.น.ก็จัดทำคู่มือการชุมนุมเพิ่มเติม 1 ฉบับ ที่มีเนื้อหาสอดรับกับคู่มือของ กอ.รมน.ภายใต้แนวคิดเดียวกันคือ "ชุมนุมโดยสงบ เคารพกฎหมายไม่เกิดความวุ่นวาย แยกย้ายโดยสันติ" ด้วยรัก ห่วงใย และปรารถนาดีจากตำรวจของประชาชน ขณะนี้คาดว่าแจกจ่ายไปถึงมือประชาชนแล้วไม่ต่ำกว่า4,000 ชุด แต่ก็ยังต้องประชาสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา

เนื้อหาที่น่าสนใจและผู้ชุมนุมสมควรได้รับรู้ก็คือการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 แต่ก็มีเงื่อนไข 2 ประการคือ 1.การชุมนุมนั้นต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ และ2.การชุมนุมนั้นต้องปราศจากอาวุธ ข้อหลังนี้สำคัญมาก เพื่อสกัด ยับยั้ง และตัดตอนความรุนแรงที่อาจแทรกขึ้นมาได้...

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ การสรุปแนวทางและขอบเขตในการชุมนุมจากคำสั่งศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 1605/2551 ชี้ชัดเจนใน3 ประเด็นสำคัญคือ 1.การปิดล้อมสถานที่ราชการโดยใช้ลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมันขวางกั้นถนนไว้เป็นการกระทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ อันเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

ถ้าผู้ชุมนุมไปทำอย่างที่ว่า...ศาลปกครองกลางท่านวินิจฉัยว่า การชุมนุมดังกล่าวมิใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ!

ประเด็นที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาจากการกระทำของผู้เข้าชุมนุมได้ หากมีการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

และประเด็นที่ 3 ศาลปกครองไม่ได้ห้ามไม่ให้สลายการชุมนุม แต่ศาลปกครองให้ทำเท่าที่จำเป็นมีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักสากล หากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุมเคารพกติกาตามแนวทางนี้ได้ เชื่อว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเด็ดขาด

ความเข้าใจระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญกับความขัดแย้งด้านความคิด มิเช่นนั้นแล้ว ผู้แพ้ที่แท้จริงก็คือประเทศไทย!

สุมหัวป่วนโทษฉกรรจ์

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโยโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้คำแนะนำถึงคนเสื้อแดงในการชุมนุมว่า โปรดยึดลักษณะการชุมนุมโดยสันติ ไม่ควรกระทำใดๆให้กระทบกระเทือนต่อสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายหรือเดือดร้อนแก่ประชาชน ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน

ต้องระวังป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ กระทำการที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ในการชุมนุม โดยยึดความรัก ความสามัคคี คือศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของคนไทยและประเทศไทย ที่สำคัญต้องไม่ส่งเสริมสนับสนุนวิธีการยั่วยุที่จะนำไปสู่ความรุนแรงทุกรูปแบบ

หากมีเหตุที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือผู้ชุมนุมรู้สึกไม่ปลอดภัย โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจใกล้ตัว พบเหตุต้องสงสัย รีบโทร.แจ้ง 191 หรือ 1555 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรา การกระทำที่ควรหลีกเลี่ยง

1.การปิดกั้นจราจรอย่างสิ้นเชิง จนทำให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมไม่สามารถใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้

2.การทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ

3.การตรวจค้นร่างกายและทรัพย์สินของผู้อื่นที่ผ่านเข้าไปในบริเวณที่ชุมนุม

4.การปิดล้อมและบุกรุกเคหสถานสถานที่ราชการอันเป็นการกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ขาดอิสรภาพ หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

5.การปลุกระดม ยั่วยุ ให้เกิดความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

6.การทำลายสาธารณูปโภคและทรัพย์สินของทางราชการ

ผู้กระทำผิดนอกจากจะได้รับโทษตามแต่กฎหมายแล้ว ยังต้องได้รับโทษฐานฝ่าฝืนตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ!!!