posttoday

ตรังจัดยิ่งใหญ่สืบทอดเทศกาลกินเจ

12 ตุลาคม 2555

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงานเทศกาลกินเจตรัง พร้อมแจกคู่มือถือศีลกินผักอย่างถูกต้อง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมจัดงานเทศกาลกินเจตรัง พร้อมแจกคู่มือถือศีลกินผักอย่างถูกต้อง

เทศกาลกินเจ หรือบางแห่งเรียกว่า ประเพณีถือศีลกินผักเป็นประเพณีแบบลัทธิเต๋ารวม 9 วัน กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีนมานานแล้ว โดยมีตำนานเล่าขานกันหลายตำนาน

จังหวัดตรัง  ถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการจัดเทศกาลกินเจมายาวนาน  ซึ่งเมื่อย้อนอดีตไปประมาณ 150-160 ปีที่แล้ว  หรือเมื่อประมาณ พ.ศ.2390-2400 จะพบว่า  ได้มีชาวจีนฮกเกี้ยนพากันอพยพโดยทางเรือเข้ามาตามสายน้ำดังกล่าว  ซึ่งต่างก็มาลงหลักปักถิ่นทำมาหากิน ณ หมู่บ้านท่าจีน หรือตั้งอยู่พื้นที่ตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง ในปัจจุบัน
 
หลังจากนั้น ชาวจีนในจังหวัดตรัง จึงได้ร่วมกันจัดงานถือศีลกินเจ หรือถือศีลกินผัก ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ.2400  เพื่อสืบสานประเพณีโบราณที่กระทำสืบต่อกันมายาวนานแล้ว  โดยการปลูกสร้างโรงพิธีเป็นโรงเรือนมุงหลังคาและฝาด้วยจาก  แล้วอัญเชิญกระถางธูปของเทพเจ้าเก้าองค์เข้าไปไว้  และถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเก้าจีน เป็นวันเริ่มต้น  จนกระทั่งถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือนเก้าจีน อันเป็นวันสิ้นสุดของงานในปีนั้นๆ
 
สำหรับการถือศีลกินผักของจังหวัดตรังนั้น  จะเริ่มเตรียมงานกันตั้งแต่วันขึ้น 27 ค่ำ เดือนแปดจีน  ทั้งนี้ จะมีการหาฤกษ์เวลาที่ดีของปีปฏิทินจีน  เพื่อตั้งโต๊ะบวงสรวงอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆ  ที่จะต้องเสด็จลงมาในวันเริ่มพิธีกรรม  ซึ่งการตั้งโต๊ะบวงสรวงนี้คนจีนเรียกกันว่า ป่ายตั่ว  ระหว่างนั้น ทางศาลเจ้าก็จะทำความสะอาดตัวศาลเจ้า แท่นบูชา เชิงเทียน ตะเกียงน้ำมัน และกระถางธูป
 
ครั้นถึงวันขึ้น 29 ค่ำ เดือนแปดจีน จะเป็นวันยกเสาธง หรือวันยกเสาเต็งโก หรือวันยกเสาเต็งกอ  ซึ่งเรียกตามสำเนียงชาวจีนฮกเกี้ยนว่า คี่เต็งโก  และปกติจะทำในตอนเช้าของวันดังกล่าว  จากนั้น ก็จะจัดการเคลื่อนย้ายกระถางธูป เชิงเทียน ตะเกียงน้ำมัน ซึ่งวางอยู่บนโต๊ะบวงสรวง  ไปตั้งวางที่ศาลเทวดาฟ้าดินทั้งหมด
 
ส่วนในตอนกลางคืนของวันเดียวกันนี้  ทางศาลเจ้าก็จะได้ทำพิธีอัญเชิญไฟพระฤกษ์เข้าสู่แท่นบูชา  ซึ่งเป็นไปตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ  ด้วยการเริ่มพิธีจุดตะเกียงน้ำมันมะพร้าว ณ แท่นบูชาของเทพเจ้าต่างๆ ทุกองค์  อันเป็นการเริ่มต้นพิธีถือศีลกินผักที่สมบูรณ์ทุกประการ
 
ผู้ที่ต้องการถือศีลกินผักจะต้องเริ่มปฏิบัติตน  นับตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนเก้าจีน ไปจนถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือนเก้าจีน เป็นอันเสร็จพิธี  โดยเฉพาะการงดรับประทานอาหารคาว หรือเนื้อสัตว์ทุกชนิด  รวมทั้งไข่ หอม กระเทียม และผักบางประเภทที่มีกลิ่นฉุนอย่างรุนแรง  รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตนให้ครบในศีล 5 อย่างเคร่งครัดที่สุด  เพื่อเป็นการซักฟอกมลทินออกจากตนเอง ทั้งกาย วาจา ใจ

ตรังจัดยิ่งใหญ่สืบทอดเทศกาลกินเจ

สำหรับในวันที่ขบวนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือขบวนพระ ของศาลเจ้าต่างๆ ออกโปรดสาธุชน  หรือมักเรียกกันว่า ออกเที่ยว ไปตามพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดตรัง  ซึ่งนอกจากจะมีลูกหลานเข้าร่วมขบวนอันยิ่งใหญ่  ในชุดนุ่งขาวห่มขาวกันเป็นจำนวนนับพันๆ คนแล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะมองดูแล้วน่าหวาดเสียวก็คือ  การใช้อาวุธ ของมีคม หรือเหล็กแหลมต่างๆ ทิ่มแทงลงไปในร่างกาย  ไม่ว่าจะเป็นตามใบหน้า ขอบตา ปาก จมูก หู หรือผิวหนัง
 
อย่างไรก็ตามแปลกนักที่ผู้คนที่เข้าร่วมในพิธีกรรมเหล่านี้  หรือที่มักเรียกกันว่า ม้าทรงนั้น กลับไม่แสดงออกถึงความเจ็บปวดใดๆ  จนยิ่งช่วยเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาให้แก่ผู้คนมากขึ้น  เพราะแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาร่วมงาน  ต่างก็เกิดความรู้สึกประทับใจในประเพณีเก่าแก่ที่มีความขลังเช่นนี้
 
ในปี 2555 จังหวัดตรัง กำหนดจัดงานประเพณีศีลกินผัก ระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคม  โดยเฉพาะวันแรก จะมีพิธียกเสาเต็งโก และอัญเชิญตะเกียงไฟพระฤกษ์ 9 ดวง ขึ้นสู่ยอดเสา  หลังจากนั้น ก็ยังมีพิธีกรรมหลักๆ ที่ศาลเจ้า อาทิ พิธีข้ามสะพานสะเดาะเคราะห์ พิธีเวียนธูปเวียนเทียน พิธีไต่บันไดมีด  และขบวนพระออกแห่รอบตัวเมืองตรัง ของศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม ศาลเจ้าไต่เซี่ยฮุดโจ้ว และศาลเจ้าพ่อเสือ
 
นอกจากนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  ยังได้มีการจัดพิมพ์คู่มือถือศีลกินผักจังหวัดตรังขึ้น  เพื่อให้ความรู้ถึงความเป็นมา และข้อมูลของศาลเจ้าต่างๆ จ่ายแจกให้กับนักท่องเที่ยวด้วย  หรือสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานตรัง โทร.(075) 215-867 และเทศบาลนครตรัง โทร.(075) 218-017