posttoday

10ปีเด็กไทยยังไอคิวต่ำ

12 ตุลาคม 2555

พบเด็กไทยยังไม่พัฒนาไอคิวเกรงส่งผลกระชาติด้านการพัฒนา แนะพ่อ-แม่อยู่ใกล้ชิดเด็กเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง จี้รัฐบาลเน้นเป็นวาระเร่งด่วน

พบเด็กไทยยังไม่พัฒนาไอคิวเกรงส่งผลกระชาติด้านการพัฒนา แนะพ่อ-แม่อยู่ใกล้ชิดเด็กเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง จี้รัฐบาลเน้นเป็นวาระเร่งด่วน

 

10ปีเด็กไทยยังไอคิวต่ำ

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา และคณะอนุกมธ.พิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในกมธ.สาธารณสุข ที่มีนพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ประธานกมธ.  เป็นประธานจัดเสวนา “สุขภาวะของเด็กไทย:การพัฒนาทางสติปัญญาเพื่อก้าวไปสู่โลกแห่งการแข่งขัน” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมงานดังกล่าว

โดยพญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะอนุกมธ. กล่าวว่า ผลสำรวจระดับสติปัญญาเด็กไทย (ไอคิว) ปี 2554 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างอายุ 6-15 ปี ในโรงเรียนทั่วประเทศ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร พบว่านักเรียนหลายหมื่นคนไอคิวเฉลี่ยไม่ถึง 100 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นไอคิวที่ต่ำ เพราะปกติแล้วไอคิวจะต้องเกิน 100 คะแนน

“จากปัญหาดังกล่าวทำให้กมธ.สาธารณสุขรู้สึกกังวล เนื่องจากหากเปรียบเทียบการศึกษาเรื่องไอคิวของเด็กไทยเมื่อ 10 ปีก่อนก็เฉลี่ยไม่ถึง 100 คะแนน สะท้อนว่า แม้ผ่านมาถึง 10ปี แต่ระดับไอคิวของเด็กไทยก็ยังไม่ได้ดีขึ้น และการที่เด็กไทยไอคิวต่ำส่งผลต่อการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาลดน้อยลง แถมยังส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของเราก็จะต่ำด้วย”พญ.พรพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากปล่อยต่อไป การแข่งขันและพัฒนากับนานาชาติก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะทรัพยากรบุคคลมีไอคิวที่ต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเด็กไทยมาก นอกจากนั้นการวัดความฉลาดทางอารมณ์(อีคิว) ของเด็กไทยก็มีแนวโน้มต่ำลงเช่นกัน เช่น เรื่องจริยธรรมก การปรับตัวและการเข้าใจคนอื่น  ดังนั้น ถือเป็นปัญหาใหญ่เพราะเด็กเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศชาติ จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขและหาทางออกอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ประเทศภูฏาน แม้มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าไทย แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับสติปัญญาของเด็กในประเทศ โดยรัฐบาลมีนโยบายสอนภาษาอังกฤษให้เด็กตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น อีกทั้งในช่องฟรีทีวี ทุกรายการจะต้องมีคำแปลภาษาอังกฤษด้านล่างเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน เพราะภาษาอังกฤษถือเป็นประตูไปสู่วิชาการด้านต่างๆ ในโลก  ขณะที่ประเทศไทยรายการที่มีสาระความรู้ ที่ผู้ปกครองควรต้องส่งเสริมให้บุตรหลานได้ดูก็มีแต่ต้องเสียค่าบริการ อีกทั้งเด็กไทยมีทั้งอินเทอร์เน็ต และแท็บเล็ต แต่ก็นิยมนำมาใช้เล่นเกมส์มากกว่า

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า การสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทย ในปี 2554 จำนวน 7.2 หมื่นคน ภาพรวมพบว่าไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ 90 คะแนน ประมาณ 28% คิดเป็น 1 ใน 4 ของเด็กไทย ซึ่งถือไม่เป็นที่พึงประสงค์ และส่งผลต่อการแข่งขันของเด็กไทย อีกทั้ง ยังพบว่าในระบบการศึกษาของไทยยังมีนักเรียนที่มีความบกพร่องของระดับสติปัญญาหรือมีไอคิวต่ำกว่า 70 คะแนน อยู่ 6.5% ซึ่งตามมาตรฐานสากลกำหนดให้มีสัดส่วนดังกล่าวเกิน 2%

“ปัจจัยที่มีผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กมี 3 ส่วนคือปัจจัยด้านภาวะโภชนาการ  ปัจจัยจากตัวเด็ก และปัจจัยด้านการครอบครัว การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม เช่น หากพ่อแม่ที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่ลูกจะมีไอคิวสูงกว่าลูกของพ่อแม่ที่มีการศึกษาน้อยกว่า เด็กยากจนจะมีคะแนนเฉลี่ยไอคิวประมาณ 100 คะแนน ส่วนเด็กที่อยู่ในสถานะทางสังคมสูงสุดพบว่าระดับคะแนนเฉลี่ยไอคิว ประมาณ 119  คะแนน เป็นต้น ดังนั้นปัญหาเรื่องไอคิวต่ำของเด็กไทยจึงเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เพราะถือเป็นปัญหาที่จะสะสมไปในระยาวได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ขณะที่พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม ครอบครัว สังคม และการโภชนาการ ดังนั้น เราจำเป็นต้องเสริมเรื่องโภชนาการ โดยให้เด็กได้รับสารไอโอดีนเพื่อเสริมสร้างความฉลาด  นอกจากนี้ ครอบครัว ก็ถือเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาและเสริมสร้างความฉลาดให้กับเด็กได้เช่นกัน

ทั้งนี้ เท่าที่พบเด็กส่วนใหญ่ ไม่มีระเบียบวินัยที่ได้รับการฝึกฝนจากครอบครัว เช่น นอน รับประทาน เป็นเวลา เพราะส่วนใหญ่ผู้ปกครองไม่ได้ดูแลบุตรด้วยตัวเอง แต่ตกเป็นภาระของผู้สูงอายุในการทำหน้าที่ดูแล ซึ่งอย่าลืมว่า 3 ปีแรกของเด็กถือว่าเป็นช่วงทองในการพัฒนาสมอง และจากผลการศึกษาตัวอย่าง แม่ฉลาดจะส่งผลต่อลูกให้เกิดความฉลาดตามไปด้วย เช่น แม่ที่จบปริญญาตรีจะเลี้ยงลูกได้ดีกว่าแม่จบการศึกษาที่อยู่ในระดับชั้นมัธยม

อย่างไรก็ดี รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว รวมถึงพ่อแม่ต้องมีความใกล้ชิดกับเด็กเพื่อพัฒนาเด็กให้เกิดความฉลาด เช่น หากมีการอ่านหนังสือหรือเปิดเพลงให้เด็กฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จะพบว่าเด็กที่ออกมาจะเกิดความฉลาด มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการปฏิบัติดังกล่าว นอกจากนี้  รัฐบาลจะต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญเรื่องนี้ตั้งแต่วัยเรียน โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการ ในการเสริมธาตุเหล็ก –ไอโอดี –โฟเลต ที่ต้องทำความคู่กันไปเพื่อให้เกิดพัฒนาการของสมอง