posttoday

รัฐผุดไอเดีย1SME 1งานวิจัย

10 ตุลาคม 2555

นลินี เสนอยุทธศาสตร์1เอสเอ็มอี1งานวิจัย ปูทางสร้าง “นักวิจัยรุ่นใหม่” สนับสนุนการพัฒนาประเทศ

นลินี เสนอยุทธศาสตร์1เอสเอ็มอี1งานวิจัย ปูทางสร้าง “นักวิจัยรุ่นใหม่” สนับสนุนการพัฒนาประเทศ 

นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรับผิดชอบสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยของประเทศไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะกับภาคอุตสาหกรรมและการสร้างคุณค่าเชิงพาณิชย์ โดยให้คำนึงถึงสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานวิจัย เช่น การจัดทำโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ทุน เป็นต้น

ดังนั้น การประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล (หน่วยงานวิจัยของรัฐ) และมหาวิทยาลัยในวันนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางบริหารจัดการนโยบายส่งเสริมและสนับ สนุนการผลิตงานวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายได้เสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่สามารถนำมาใช้ได้จริง โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ รวบรวมข้อเสนอต่าง ๆ จัดทำเป็นมาตรการส่งเสริมการวิจัย 5 แนวทาง เสนอแก่ที่ประชุม โดยที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง เพื่อปรับปรุงรายละเอียดให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงและก่อให้เกิด ประโยชน์มากที่สุด และเมื่อแล้วเสร็จจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ด้าน นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล ประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางและมาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อภาค อุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวทางที่เกิดจากการรวบรวมความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายประกอบด้วย 5 แนว ทาง คือ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้จ่ายเพื่อการทำวิจัยมากขึ้น การสร้างบุคลากรและการพัฒนาเครื่องมือเพื่อการวิจัย การเชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ การสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับภาคอุตสาหกรรม และการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โดยในแต่ละแนวทางจะมีมาตรการย่อย ๆ ที่จะดำเนินการ อาทิ การลดหย่อนภาษีให้แก่ภาคเอกชนที่ลงทุนทำวิจัย การจัดตั้งกองทุนเพื่อการวิจัย กองทุน SMEs และศูนย์วิจัยภาคอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้เอกชนใช้เครื่องมือการวิจัยของรัฐ การแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างภาครัฐกับเอกชน เป็นต้น

สำหรับ ความคิดเห็นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมประชุมนั้น ส่วนใหญ่แสดงความชื่นชมรัฐบาลที่ได้เอาจริงเอาจังและให้ความสำคัญกับการส่ง เสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย โดยอยากเห็นรัฐบาลส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เช่น ทุนวิจัยและองค์ความรู้ อย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือเล็ก การลดหย่อนภาษีให้แก่เอกชนที่ลงทุนทำวิจัย การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs การ ตั้งกองทุนเพื่อการวิจัย การตั้งศูนย์ทดสอบคุณภาพนวัตกรรมที่เกิดจากการวิจัย การบูรณาการระหว่างหน่วยงานวิจัยของรัฐและการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อ การทำวิจัยของเอกชน รวมทั้งการกระตุ้นให้ SMEs ได้ทดลองทำวิจัยโดยภาครัฐเป็นพี่เลี้ยง หรือโครงการ 1 SMEs  1 งานวิจัย เป็นต้น

วันเดียวกัน นางนลินี ได้เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม “นักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว.” และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีผู้บริหาร สกว. เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ผู้แทน สกอ. และนักวิจัยรุ่นกลางและนักวิจัยรุ่นใหม่ จำนวนกว่า 900 คน เข้าร่วมงาน

นางนลินี กล่าวว่า การวิจัย เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยหลายประการ เริ่มตั้งแต่นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม นอกจากนี้ นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 ปี 2555 - 2559 ยังได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศไทยจะมีและใช้งานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน

สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังเมื่อสิ้นปี 2559 คือ การเพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่น เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของ GDP สัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยของภาคเอกชนต่อภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 1 บุคลากรทางการวิจัยของประเทศจะเพิ่มเป็นจำนวน 10 คนต่อประชากร 10,000 คน จำนวนสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2554 จำนวนผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการในระดับสากลเพิ่มขึ้นไม่น้อย กว่าร้อยละ 30 ผลงานวิจัยต่อยอดเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในระดับชุมชน ท้องถิ่น และสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554 

ขณะ นี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญคือ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 3 ปี นับจากนี้ และยังมีการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งเราจำเป็นต้องหันมาพิจารณาถึงศักยภาพที่ประเทศไทยมี โดยเฉพาะภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เกษตรและเพิ่มผลิตภาพการผลิต

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังมีนักวิจัยจำนวนน้อย เราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยอย่างต่อ เนื่องและทั่วถึง โดยต้องเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนที่เก่งและมีความสามารถพิเศษ เข้ามาเป็นนักวิจัยและสามารถยึดการวิจัยเป็นอาชีพได้ จากนั้นจึงให้ทุนสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาเอกและนักวิจัยหลังปริญญาเอก ต่อด้วยการให้ทุนสนับสนุนที่เป็นการพัฒนาอาชีพนักวิจัย และเมื่อถึงระดับนักวิจัยอาวุโสจะมุ่งเน้นไปที่การทำหน้าที่สร้างนักวิจัย รุ่นใหม่และทีมวิจัย ตลอดจนเครือข่ายการวิจัยที่รวมผู้ชำนาญหลาย ๆ สาขาทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นทีม