posttoday

แจงสร้างเขื่อนแม่วงก์ป่าหาย 1.23หมื่นไร่

04 ตุลาคม 2555

"ธีระ" แจงผลศึกษาผลกระทบสร้างเขื่อนแม่วงก์มีทั้งได้ทั้งเสีย ป่าหาย 1.23 หมื่นไร่ ได้พื้นที่กักน้ำ 250 ล้านลบ.ม.

"ธีระ" แจงผลศึกษาผลกระทบสร้างเขื่อนแม่วงก์มีทั้งได้ทั้งเสีย ป่าหาย 1.23 หมื่นไร่ ได้พื้นที่กักน้ำ 250 ล้านลบ.ม. 

นายประสาท ตันประเสริฐ สส.นครสวรรค์ พรรคชาติพัฒนา ตั้งกระทู้ถามสดเรื่อง การสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติการสร้างเขื่อนแม่วงก์ วงเงิน 13,280  ล้านบาท ​และทราบว่าขณะนี้บริษัทครีเอทีฟได้สรุปผลศึกษาทางด้านผลกระทบการก่อสร้างเสร็จแล้วตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมาแล้ว  ​อยากทราบว่ารายละเอียดผลศึกษาเป็นอย่างไร รวมทั้งกรณีที่มีการไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ระงับการก่อสร้างนั้นจะเป็นส่งผลต่อการก่อสร้างหรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ อยากฝากให้รัฐบาลช่วยเร่งรัดให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้ง

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหรกรณ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและพัฒนาระบบชลประทาน ซึ่งที่ตั้งที่เหมาะสมคือเขาสบกก ส่วนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมพบว่าจะต้องเสียพื้นที่ป่าไม้ในอุทยาน 1.23 หมื่นไร่ หรือคิดเป็น 2.2 % ของพื้นที่อุทยานทั้งหมด​ และพบว่าการก่อสร้างจะไปรบกวนสัตว์ป่าบ้าง ขณะที่จะมีหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่จะต้องย้ายออกหนึ่งแห่ง ส่วนเรื่องผลกระทบสุขภาพไม่พบปัจจัยที่มีผลคุกคามต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ส่วนผลกระทบทางด้านสังคมจะมีพื้นที่การเกษตรไปบางส่วนแต่จะได้รับการเยียวยาชดเชย ​ โดยจะมีแผน ติดตามผลกระทบซึ่งจะมีแนวทางป้องกันเยียวยาผลระทบที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกคือจะมีน้ำเก็บกักได้  250  ล้านลบ.ม. เพื่อไปใช้เกษตร อุปโภคบริโภคท่องเที่ยว ​จะมีพื้นที่ชลประทาน 2.91 แสนไร่ ช่วยพื้นที่การเกษตรในฤดูแล้งได้ถึง 1.16 แสนไร่  มีพื้นที่ประโยชน์ท้ายอ่างได้ประโยชน์ 1 หมื่นไร่ เป็นการยกระดับรายได้ให้เกษตรกร  ซึ่งมีราษฎรได้ประโยชน์ 1.4  หมื่นครัวเรือน ​ส่วนผลกระทบด้านลบ พื้นที่ป่าจะหายไป 1.23 หมื่นไร่ และที่ดินของราษฎรได้รับผลกระทบ  ขณะที่ผล กระทบด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า ค่าตอบแทนทางเศรษฐกิจ 12% ส่วนเรื่องฟ้องร้องศาลปกครองนั้นได้มอบให้ทางอัยการเป็นผู้ดำเนินการไป และยืนยันว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภัยแล้งเป็นไปอย่างรวดเร็ว