posttoday

ไทยเจอเด็กด้อยโอกาสกว่า5ล้านคน

03 ตุลาคม 2555

สสค.-สสส.เผยเด็กด้อยโอกาสในประเทศสูงกว่า 5 ล้านคนหมอประเวศชี้ความเหลื่อมล้ำต้นเหตุปัญหาหลัก

สสค.-สสส.เผยเด็กด้อยโอกาสในประเทศสูงกว่า 5 ล้านคนหมอประเวศชี้ความเหลื่อมล้ำต้นเหตุปัญหาหลัก

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวระหว่างเป็นประธานการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 9 เรื่องการดูแลเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย สู่การจัดการเชิงระบบที่ยั่งยืน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าขณะนี้ทุกคนมองว่าคุณภาพเด็กและเยาวชนของประเทศเป็นเรื่องใหญ่ แต่เรื่องของเด็กด้อยโอกาส กับพบสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะจากข้อมูลจะพบว่าประเทศไทยมีเด็กด้อยโอกาสอยู่นับหลายล้านคน ดังนั้น การที่จะพูดถึงการศึกษา และการพัฒนา จะพูดแต่เรื่องการเรียนรู้อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะการที่พ่อ แม่ ครอบครัวมีฐานะยากจน รวมถึงความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กด้อยโอกาส

จากผลการวิจัยในต่างประเทศ พบข้อมูลจากทั่วโลกว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำของรายได้ ปัญหาสุขภาพ การพัฒนาสังคม มีความสัมพันธ์กันเกือบเป็นเส้นตรง โดยสหรัฐอเมริกามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ส่วนญี่ปุ่น สแกนดิเนเวีย เหลื่อมล้ำน้อยที่สุด ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชนจะต้องนึกถึงการสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงอยากเสนอให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยหันมาทำเรื่องความเป็นธรรม จะได้นำไปสู่นโยบายสาธารณะ  เนื่องจากทุกวันนี้เรื่องเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งต้องดูเชิงระบบว่าจะทำอะไรได้บ้าง โดยอิทธิพลในพื้นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาด้วยการทำงานแบบบูรณาการ

“100 ปีที่ผ่านมาระบบการศึกษาของเราทำให้คนไทยไม่รู้จักแผ่นดินไทย เครื่องมือสำหรับเดินไปคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ หากเราเข้าใจแนวคิดและวิธีการ เราสามารถขยายเรื่องดีๆ ให้เต็มประเทศไทย แนวคิดคือการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เราไม่ได้ใช้กรม หน่วยงานเป็นตัวตั้ง การจะทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ด้วยการถักทอกันทางสังคม ทั้งครู ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ นายก อบต. อบจ. นายอำเภอ ใครคนใดคนหนึ่งทำไม่ได้ ต้องมาถักทอ ไม่ใช่การด่าทอ เราไม่ปะทะ เป็นกับศัตรูใคร เพื่อทำเรื่องที่ยากให้เป็นไปได้ โดยชุมชน ตำบล อบต. สามารถสำรวจได้ว่าในแต่ละตำบลมีใครถูกทอดทิ้งบ้าง เช่น คนชรา ผู้สูงอายุ เด็กด้อยโอกาส แล้วจัดอาสาสมัครเข้ามาดูแลได้ทั้งหมดทุกคน”ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สสค. กล่าวว่า สสค.มองมิติทางสังคมและความเท่าเทียม จริงอยู่ว่าเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา สภาพการด้อยโอกาสสร้างลอยร้าว สร้างความเหลื่อมล้ำ เราพบข้อมูลเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านคน หรือประมาณ 30% ของเด็กทั่วประเทศ เฉลี่ยต่อจังหวัดประมาณ 5-7 หมื่นคน หรือราว 400-500 คนต่อตำบล โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มเด็กที่ต้องการดูแลมิติเรื่องการแพทย์ สุขอนามัย รวมถึงการออกแบบการเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็กพิการ บกพร่องทางการเรียนรู้ (LD /สมาธิสั้น ออทิสติค)  2.ภาวะด้อยโอกาสเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ  3.ภาวะด้อยโอกาสจากปัญหาสังคม ประกอบด้วยกลุ่มแม่วัยรุ่น โดยจากข้อมูลตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ 4.กลุ่มเด็กที่มีปัญหาเฉพาะ เช่น กลุ่มที่ถูกใช้แรงงานต่างด้าว เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น ซึ่งหากครอบครัว โรงเรียน ชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการเข้าไปร่วมกันดูแลก็จะกลายเป็นความสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจนับสิบล้านบาทต่อตำบลและนับพันล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี ยังไม่รวมถึงความสูญเสียทางสังคมอีกมหาศาล

ดร.ไกรยส ภทราวาท นักเศรษฐศาสตร์ สสค.กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำกำลังเป็นมะเร็งของสังคมที่ต้องการการแก้ไข มีคำถามเกิดขึ้นว่าทำไมสังคมสร้างยาแก้ไขออกมารักษาได้หลายโรค แต่ยังไม่มียารักษาโรคของความเหลื่อมล้ำได้ การแก้ปัญหาด้วยการย้ายทรัพยากรที่ปลายทางกับงบประมาณมหาศาลไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง หากปล่อยไว้ก็จะกลายเป็นมะเร็งที่รุกราม จึงอยากให้รัฐบาลมีนโยบายและสนับสนุนงบประมาณมาแก้ไข และลงทุนในมนุษย์สังคมให้มากขึ้น อย่าปล่อยให้ลุกลามแล้วมาแก้ด้วยงบประมาณที่มากมายมหาศาล การแก้ปัญหาของ สสค. เป็นการแก้ที่ต้นทาง และสิ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาสำเร็จนั้น จริงๆ แล้วงบประมาณ คน ไม่ใช่ปัญหา แต่เรื่องของจิตใจต่างหากที่จะสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า เคยถามเสมอว่า ความมั่นคงของมนุษย์ คือ อะไร วันนี้ได้คำตอบว่าคือการที่คนเกิดมาแล้วเติบโตทุกด้านของชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีความปลอดภัยอยู่เย็นเป็นสุข ทั้ง 2 โครงการกำลังลงเสาเข็ม ขาดแคลนชีวิตที่มีคุณภาพได้เติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคง ในอนาคตของประเทศอีก 20 ปีข้างหน้ามองเห็นพลเมืองไทย 3 กลุ่ม 1 เด็กล้นโอกาส แข่งโอลิมปิก ว่ายน้ำ บัลเลย์ เติบโตมาเป็นผู้นำ เข้าถึงกลุ่มทุนทุกย่าง คนไทยที่เป็นเด็กปัจจุบันคือกลุ่ม 2 ละโอกาส ไม่ฉกฉวย เติบโตมาเป็นคนไทยเฉยๆ ส่วนกลุ่ม 3 ขาดโอกาส น่าจะมากกว่า 8 ล้านคน จะเติบโตขึ้นมาอย่างไร

วันนี้จึงชื่นใจมากที่ท่านได้ลงเสาเข็มที่มั่นคง เพราะโจทย์ของประเทศไทยตอนนี้คือการสร้างระบบพัฒนาความเป็นธรรมของเด็กทุกด้านที่ขาดโอกาส เข้าไม่ถึงความเป็นธรรมทั้งหลายที่ชัดเจนมากขึ้นทุกทีในสังคมไทย จนไม่อยากดูข่าว ดังนั้น เรามาช่วยกันหาคำตอบของโจทย์ ระบบพัฒนาความเป็นธรรมของเด็กขาดโอกาสเหล่านี้ เป็นอย่างไร

กำลังหาคำตอบ และได้คำตอบธรรมดามากแต่มีความไพเราะ คือ ระบบประกบตัว การไปเยี่ยมบ้าน ค้นหาเด็กเป็นรายบุคคล คัดกรอง ประชาพิจารณ์ให้ภาคีทุกกลุ่มได้มาแสดงความเข้มแข็งร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ นอกจากนั้นมีการหารูปแบบของการวิจัยที่ชัดเจน จนหาเครื่องมือในการพัฒนา เพื่อช่วยสร้างพลเมืองไทยใน พ.ศ. 2565 ให้เป็นคนไทยที่เข้มแข็ง เราอาจจะตอบปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถตอบโจทย์หลายๆ โจทย์ของประเทศไทยที่สำคัญได้ในตอนนี้ งานขอท่านอาจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะเด็ก แต่เป็นรูปแบบของการก้าวไปสู่เยาวชน ผู้สูงอายุ หรือวัยหนุ่มสาวได้ ดังนั้น คำสำคัญคือ มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ