posttoday

ไขคดีจากโครงกระดูก คลี่ปริศนาด้วยนิติวิทยาศาสตร์

01 ตุลาคม 2555

ถึงแม้ว่าตำรวจจะรวบตัว พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ ซึ่งเกี่ยวพันกับการหายตัวไปของสองสามีภรรยาในไร่ที่ จ.เพชรบุรี

โดย...วัสยศ งามขำ

ถึงแม้ว่าตำรวจจะรวบตัว พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เลาหะวัฒนะ ซึ่งเกี่ยวพันกับการหายตัวไปของสองสามีภรรยาในไร่ที่ จ.เพชรบุรี ไว้ได้แล้ว แต่นั่นก็ยังยืนยันไม่ได้ว่านายแพทย์ผู้นี้จะเป็นมือฆ่าจริงตามที่สังคมโจษขาน สิ่งสำคัญที่สุดของการคลี่คดีนอกจากพยานแล้ว หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ก็มีความสำคัญไม่เป็นสองรองจากหลักฐานใดๆ ในคดีที่มีปริศนาดำมืดเช่นนี้

ฉากแรกของการหาหลักฐานจึงหนีไม่พ้นการแกะรอยจากโครงกระดูกอย่างน้อย 3 โครง ที่ถูกขุดพบในไร่ นั่นเป็นเพราะมันเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่จะบ่งชี้ได้ว่าสองสามีภรรยาที่หายไปกว่า 3 ปีนั้น สิ้นลมหายใจไปแล้วหรือยัง

นักสืบนิติวิทยาศาสตร์อย่าง พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคดีทันทีที่โครงกระดูกถูกฉุดขึ้นมาจากผืนดิน นักสืบรายนี้พร้อมเสมอที่จะแกะรอยซากศพและโครงกระดูกปริศนา เพื่อบ่งบอกสถานะที่แท้จริงว่ากระดูกที่ไม่มีเนื้อหนังหุ้มอยู่นั้นเป็นสองสามีภรรยาที่ครอบครัวของเขาตามหาอยู่หรือไม่

เขาเปิดฉากให้ฟังว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการสืบจากศพเพื่อให้รู้ว่าคนตายเป็นสองสามีภรรยาที่หายตัวไปหรือไม่คือ การตรวจดีเอ็นเอ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต ซึ่งปกติแล้วการตรวจหาดีเอ็นเอนั้นสามารถตรวจหาได้หลายวิธี โดยการตรวจในคนเป็นนั้นสามารถที่จะหาดีเอ็นเอได้จาก เลือด เยื่อบุกระพุ้งแก้ม เส้นผม ขน สิ่งคัดหลั่งจากช่องคลอด น้ำลาย หรือแม้กระทั่งผิวหนัง แต่การเก็บดีเอ็นเอจากศพคนตายนั้น ต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ จากศพสดและจากศพเน่า

ไขคดีจากโครงกระดูก  คลี่ปริศนาด้วยนิติวิทยาศาสตร์

 

ในส่วนของศพสด หรือตายไม่ถึง 24 ชั่วโมงนั้น การหาดีเอ็นเอ ทำได้คล้ายกับคนมีชีวิต คือเก็บจากเลือด เพียงแต่เลือดนั้นควรจะมาจากหัวใจ เนื่องจากมีความเข้มข้มสูง นอกจากนั้นยังเก็บได้จากกล้ามเนื้อต้นแขนหรือต้นขา เส้นผม หรือกระพุ้งแก้ม แต่ในส่วนของศพที่เน่านั้น ไม่สามารถเก็บจากเลือดหรือกล้ามเนื้อได้ การตรวจหาดีเอ็นเอจึงซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งในส่วนของศพที่ตายประมาณ 1-3 วันนั้น ต้องหาดีเอ็นเอจากกระดูก

“กระดูกที่ส่งผลให้หาดีเอ็นเอได้ชัดเจนที่สุดจะต้องเป็นกระดูกซี่โครงซี่ที่ 12 เนื่องจากเป็นส่วนของกระดูกอ่อน เช่นเดียวกับกระดูกใบหู นอกจากนั้นยังหาดีเอ็นเอได้จากกระดูกแขน ขา ส่วนฟันนั้นไม่นิยมเอามาหาดีเอ็นเอ เพราะสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิติทันตกรรมได้ ซึ่งมีความแม่นยำในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเหมือนกัน” พล.ต.ท.จรัมพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพิสูจน์โครงกระดูก 3 โครงที่พบในไร่ของ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ นั้น กลับแตกต่างจากวิธีการตรวจข้างต้น เนื่องจากเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เป็นเพราะเงื่อนปมของเวลาที่โครงกระดูกทั้งสามซุกอยู่ใต้ดินที่เชื่อว่าน่าจะอยู่มาไม่ต่ำกว่า 3 ปี พล.ต.ท.จรัมพร เล่าให้ฟังว่า ในกรณีที่ศพมีการตายนานขนาดนี้ จะใช้วิธีตรวจพิสูจน์แบบปกติไม่ได้ เพราะการตรวจดีเอ็นเอที่ได้ผลดีที่สุดจะต้องตรวจจากกระดูกต้นขาที่เรียกว่า Femur โดยตัดเอาส่วนหนึ่งของกระดูกออกมา ก่อนที่จะนำไปทำขั้นตอนกรรมวิธีที่ต้องใช้เวลามากกว่าทุกวิธีข้างต้น

“เมื่อตัดกระดูกออกมาแล้ว จะต้องเอากระดูกไปป่นก่อน ซึ่งการป่นนั้นจะต้องใช้ไนโตรเจนเหลวเป็นตัวทำให้กระดูกละเอียดแตกตัว จากนั้นจึงนำไปสกัด ก่อนที่จะเพิ่มปริมาณเพื่อนำมาตรวจพิสูจน์ หลังจากได้ผลแล้วจึงต้องนำมาวิเคราะห์ ซึ่งทั้งสามศพที่พบนั้นจะต้องทำวิธีการเดียวทั้งหมด จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการพิสูจน์ว่าเป็นคนที่สูญหายไปหรือไม่” พล.ต.ท.จรัมพร กล่าว อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้ก็พอทราบผลแล้วว่าโครงกระดูก 1 ใน 3 ที่ตรวจพิสูจน์นั้นไม่ใช่สองสามีภรรยาที่หายตัวไป แต่จะเป็นศพใครนั้นจะต้องรอผลการตรวจเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่อาจจะมีคนมาขอตรวจพิสูจน์

พล.ต.ท.จรัมพร กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอโครงกระดูกจะปรากฏออกมา แต่ก็ต้องถือว่าคดีนี้เพิ่งจะเริ่มเปิดฉากขึ้นเท่านั้น เพราะถึงผลการตรวจจะพบว่าเป็นศพของสองสามีภรรยา แต่ตำรวจก็ต้องพิสูจน์ต่อไปว่า พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ เป็นคนลงมือฆ่าคนทั้งสองหรือไม่ ซึ่งจะต้องรวบรวมจากปากคำของพยานหรือหลักฐานอื่นๆ เช่น การตรวจอาวุธปืน เป็นต้น การตรวจพิสูจน์โครงกระดูกจึงถือว่าเป็นต้นทางของการดำเนินคดีเท่านั้น

“จะเห็นได้ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งข้อหาฆาตกรรมแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนเพียงแต่แจ้งข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เนื่องมาจากรถยนต์ของคนตายไปอยู่ในบ้านของผู้ต้องหา และข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว เนื่องจากมีพยานยืนยันว่า พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ นำตัวทั้งสองคนขึ้นไปบนรถ ก่อนที่จะหายตัวไป” พล.ต.ท.จรัมพร กล่าวและบอกว่า การคลี่คลายคดีลักษณะนี้จะทำแบบฉายเดี่ยวไม่ได้ แต่ต้องทำร่วมกันทั้งฝ่ายสืบสวนสอบสวนและด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ตนเรียกว่า “เล่นคอนเสิร์ต” ไม่ใช่แค่ “ดูโอ” หรือ “ทรีโอ” เท่านั้น

เขาขยายความต่อจากคดีนี้ด้วยว่าจากการตรวจกระดูกในคดีนี้ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับคดีศพนิรนามมากขึ้น โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่แล้วในชื่อของ “ศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม” รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับคนเร่ร่อนหรือคนสติไม่ดีที่เราเห็นเดินตามท้องถนนด้วย เพราะด้วยวิวัฒนาการของดีเอ็นเอสามารถที่จะตรวจหาครอบครัวของคนเหล่านี้ได้ ซึ่งจากสถิติของตำรวจพบว่า ตั้งแต่ปี 2545-2554 มีการแจ้งคนหายมากถึง 1,168 คน ส่วนศพนิรนามนั้น สถิติปี 2552-2554 พบว่ามียอด 1,138 ศพ ในจำนวนนี้ถือว่ามากพอสมควร และตำรวจเองควรจะเข้าไปจัดการคลี่คลายคดีเหล่านี้

“คดีเหล่านี้คล้ายกับการต่อจิ๊กซอว์ มีความซับซ้อนกว่าและเสียค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์เยอะ แต่มันไม่ยากที่จะพิสูจน์ เพียงแต่มันไม่ง่ายเหมือนในหนัง CSI เท่านั้น” พล.ต.ท.จรัมพร ทิ้งท้าย