posttoday

โพลล์เผยเด็กมองสังคมไทยคนดีไร้ที่ยืน

28 กันยายน 2555

เอแบคโพลเผย ผลสำรวจ พบ 80.1% เด็ก มองสังคมปัจุบันคนดีไร้ที่ยืน 63.9% เคยเห็นข้าราชการโกง

เอแบคโพลเผย ผลสำรวจ พบ  80.1% เด็ก มองสังคมปัจุบันคนดีไร้ที่ยืน  63.9% เคยเห็นข้าราชการโกง

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง"ประเมินคุณธรรมจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการไทยในสายตาเด็กและเยาวชน" กรณีศึกษาตัวอย่างเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 12 - 24 ปี ที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,127 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 24-27 กันยายน พ.ศ. 2555 จากผลการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 48.4 ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ในขณะที่ร้อยละ 43.3 ติดตามนานๆ ครั้ง และร้อยละ 8.3 ไม่ได้ติดตามเลย เมื่อถามถึง คุณธรรมและจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่เด็กและเยาวชนเคยพบเห็นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 ไม่เคยพบเห็นเลย ในขณะที่ร้อยละ 32.7 เคยพบเห็น เช่น จิตอาสา ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสามัคคี และความเมตตากรุณา เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.9 ระบุ เคยพบเห็น การรับสินบน การคดโกง การทุจริตคอรัปชั่น ในขณะที่ ร้อยละ 8.3 เคยพบเห็นการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เช่น ตำรวจจอดรถในที่จอดของผู้พิการ จอดรถในที่ห้ามจอด ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าไฟแดง ผิดวินัยไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เมาแล้วขับ เป็นต้น และรองๆ ลงไปคือ ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ การทะเลาะขาดความสามัคคี การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของเจ้าหน้าที่ พูดจาไม่สุภาพ พูดโกหก ใช้อำนาจในทางที่ผิด ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ใช้เส้นสายในการทำงาน และอื่นๆ อาทิ ทำร้ายประชาชน รังแกประชาชน ข่มขู่ประชาชน ทำร้ายร่างกายผู้หญิงในสถานที่ราชการ เก็บค่าคุ้มครอง รีดไถประชาชน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.4 ของเด็กและเยาวชนที่ถูกศึกษา ระบุว่า พบเห็นการทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าการทำความดี ในขณะที่ร้อยละ 41.6 ระบุว่า พบเห็นการทำความดีของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.7 ไม่เห็นด้วยต่อการโฆษณาของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งที่ว่า ถ้าจะให้ของรางวัลหรือเงินตอบแทนเป็นสินน้ำใจแก่เจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการ ก็ให้ได้แต่ต้องไม่เกิน 3,000 บาท เพราะเป็นการเปิดช่องทางให้มีการทุจริตคอรัปชั่น เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป และขาดอุดมการณ์ ทำงานเพื่อหวังผลประโยชน์ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 33.3 เห็นด้วย เพราะ กฎหมายกำหนดห้ามรับสิ่งของมูลค่าเกินกว่านั้น การทำความดีไม่ต้องหวังผลตอบแทนมากมาย และเป็นจำนวนเงินที่พอรับได้ เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงข่าวการที่รัฐบาลได้โยกย้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังเปิดโปงขบวนการทุจริต คอรัปชั่นในเวลานี้ พบว่า ร้อยละ 53.4 ทราบข่าว ในขณะที่ร้อยละ 46.6 ไม่ทราบข่าว ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ เมื่อสอบถามว่า กระทรวงใดที่เจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการควรออกมารวมตัวแสดงพลังเป็นตัวอย่างความซื่อสัตย์สุจริตให้กับเด็กและเยาวชน พบว่า กระทรวงห้าอันดับแรกที่ต้องพิจารณาปรับปรุงภาพลักษณ์โดยเด็กและเยาวชนขอให้เจ้าหน้าที่รัฐรวมตัวแสดงพลังเป็นตัวอย่างที่ดีด้านความซื่อสัตย์สุจริต โดยอันดับแรกหรือร้อยละ 28.6 ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม รองลงมาคือ ร้อยละ 26.9 ได้แก่ กระทรวงการคลัง อันดับที่สามหรือร้อยละ 25.6 ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ อันดับที่สี่หรือร้อยละ 21.9 ได้แก่ กระทรวงกลาโหม และอันดับที่ห้าหรือร้อยละ 19.3 ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย และรองๆ ลงไปคือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามเด็กและเยาวชนถึงความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประโยคที่ว่า คนดีมีที่ยืน กับ คนดีไม่มีที่ยืน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 คิดว่า สังคมไทยปัจจุบันเป็นแบบ “คนดีไม่มีที่ยืน” มากกว่า ในขณะที่เพียงร้อยละ 19.9 คิดว่า สังคมไทยปัจจุบันเป็นแบบ “คนดีมีที่ยืน” ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.4 ของเด็กและเยาวชนระบุ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ยอมรับผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอรัปชั่น กลับได้ดีมีตำแหน่งสูงขึ้นและได้รับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ในขณะที่ร้อยละ 40.6 ระบุข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นถูกทอดทิ้ง ไม่มีหน่วยงานใดของรัฐให้ความคุ้มครองอย่างจริงจังต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อถามเด็กและเยาวชนว่า ชอบคำไหนมากกว่ากันระหว่างคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” กับคำว่า “ข้าราชการ” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.8 ชอบคำว่า “ข้าราชการ” มากกว่า เพราะจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี มีอุดมการณ์ มีคุณธรรม จริยธรรม และต้องเจริญชีวิตเป็นคนดีตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 23.2 ชอบคำว่า“เจ้าหน้าที่รัฐ” มากกว่า เพราะทำงานรับใช้ประชาชนที่จ่ายภาษีอากร ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล และต้องมีอุดมการณ์เพื่อประเทศชาติและประชาชน

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่าอนาคตของสังคมไทยน่าเป็นห่วงแค่ไหนจากการสำรวจครั้งนี้ เพราะเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีและผู้ใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอำนาจและสามารถใช้อำนาจที่ถูกอ้างว่าเป็นอำนาจอันชอบธรรม จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า คุณธรรมและจริยธรรมเกิดขึ้นจากอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ และถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องออกมาแสดงพลังครั้งใหญ่ในการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนได้เห็น เพื่อปฏิรูปสังคมไทยอย่างแรง ทำให้เกิดปฏิกิริยาเชิงสังคมจนสามารถ “ปรับทิศทางของสังคมไทย” ที่กำลังดิ่งลงต่ำไปเรื่อยๆ ได้ชูหน้าขึ้นและนำไปสู่ความเจริญมั่นคงโดยต้องทำให้เด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันและอนาคตเห็นเป็นตัวอย่าง โดยเสนอให้มี 3 โครงการเร่งด่วนได้แก่ โครงการ “ทำดีให้เด็กดู” โครงการ “คุ้มครองคนดี” และโครงการ “คนดีต้องมีที่ยืนอย่างสง่างาม” ทั้งนี้คนที่ทำดีต้องได้รับการคุ้มครองให้เจริญก้าวหน้า มีความสุขมากกว่ากลุ่มคนที่มุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องที่กระทำตัวอยู่เหนือกฎระเบียบของสังคมอันดีงาม

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามจากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.6 เป็นชาย ร้อยละ 48.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 10.5 ระบุอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 39.4 ระบุอายุ 15-19 ปี และร้อยละ 50.1 ระบุอายุ 20-24 ปี ทั้งนี้ ร้อยละ 98.6 ระบุยังเป็นนักเรียน/นักศึกษาอยู่ในขณะที่ร้อยละ 1.4 ระบุว่าไม่ได้เป็นนักเรียน/นักศึกษาแล้ว