posttoday

แนะอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมอย่าตะลุมบอน

26 กันยายน 2555

โครงการคนรุ่นใหม่ใจอาสาเพื่อผู้ประสบภัย (GEN V) แนะอาสาสมัคร-จิตอาสา อย่าตะลุมบอน

โครงการคนรุ่นใหม่ใจอาสาเพื่อผู้ประสบภัย (GEN V) แนะอาสาสมัคร-จิตอาสา อย่าตะลุมบอน บทบาทมีเพียง ยุ เชียร์ เชื่อม หนุน ให้ชุมชนเข้มแข็ง และอยู่ได้ด้วยตัวเอง

แนะอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมอย่าตะลุมบอน

นางปิยาภรณ์ มันฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวระหว่างการประชุมโครงการคนรุ่นใหม่ใจอาสา เพื่อผู้ประสบภัย (GEN V) จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. ว่า จากกรอบแนวคิดของโครงการคนรุ่นใหม่ ใจอาสา หรือที่เราเรียกกันว่า GEN V ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน รวมตัวกันเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนที่ถูกน้ำท่วม ใน 7 พื้นที่ในจ.อยุธยา จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.ปทุมธานี ในปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ใหญ่ต้องชื่นชมกับน้ำใจและจิตอาสาของเด็กเหล่านี้ แต่เราก็มีความเป็นห่วงระหว่างทางที่กำลังดำเนินการกันไปก็อยากให้คนที่ทำมีความชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ของตนเอง คือ บทบาทในการสร้างอาสาสมัครภายในและภายนอก บทบาทในการเชื่อมโยงความช่วยเหลือ ซึ่งต้องชี้เป้า ชี้ประเด็นของปัญหาให้ชัด และบทบาทในการตีโจทย์ของชุมชนให้คลี่คลาย ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์ตนเองให้ได้ว่าเราจะหนุนอะไรให้ชุมชน

แนะอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมอย่าตะลุมบอน

เราอย่าเป็นอาสาสมัครที่สนองความต้องการชุมชน ทำให้ชุมชนทุกเรื่องไม่ได้ แต่อาสาสมัครจะต้องเป็นคนที่คอยยุ เชียร์ และเชื่อม หมายถึงเราเป็นผู้ยุ เชียร์ให้ชุมชนคิดเอง ทำเอง ให้เขาเข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง อย่าคิดแทน ทำแทน และคอยเชื่อมโยงประสานงานให้กับคนในพื้นที่ หน่วยงานองค์กร และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญได้ลงมาเชื่อมการทำงานร่วมกัน 

แนะอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมอย่าตะลุมบอน

และบทเรียนจากปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกหน่วยงานที่ทำงานอาสาสมัครควรระวัง อย่าให้เหมือนกับเหตุการณ์สินามิที่ทุกองค์กร หน่วยงาน กลุ่มคนมากมายมุ่งลงไป จนทำซ้ำกันไปหมด จนลืมบริบทและความต้องการของพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องช่วยให้ชุมชนเขาเข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง เราเป็นผู้หนุนและหาคนที่จะมาเป็นผู้นำธรรมชาติในพื้นที่ของชุมชนนั้นๆ ให้พบ

ด้านนางนงนาท สนธิสุวรรณ ที่ปรึกษากิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กลุ่มเด็ก และเยาวชน อาจจะยังไม่สามารถสร้างได้ แต่ก็ต้องหาวิธีการที่จะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เนื่องจากเรื่องภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราวอีกแล้ว เราต้องสร้างระบบของการทำงาน และหากมีโอกาสควรผ่านช่องทางสื่อ เพื่อเผยแพร่ ออกไปในวงกว้าง ต้องทำตัวเป็นนักเชื่อม เพื่อโยงหน่วยงาน องค์กร ชุมชน เข้ามาร่วมกันทำงาน ระบบดีๆ ที่เกิดขึ้นจากเยาวชนมีมากมาย ซึ่งต้องบอกว่านี่แหละคือรูปธรรมของจิตอาสาที่ทำงานเป็นระบบ

แนะอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมอย่าตะลุมบอน

นพ.บัญชา พงษ์พาณิช กรรมการและเลขานุการ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ)  กล่าวว่า การทำงานอาสาสมัครกับพื้นที่เราต้องประเมินสถานภาพ บริบท สภาพปัญหา การขับเคลื่อนของเครือข่าย และการประเมินตัวของเราเอง  เพราะการทำงานกับเยาวชน อย่าลืมว่าวัยของเยาวชนมีการเปลี่ยนผ่านสูงมาก มาเร็วไปเร็ว การทำงานระยะยาวจึงยาก เราจึงต้องออกแบบการทำงาน และหาพันธมิตรหลัก ที่จะจับมือทำงานร่วมไปกับเขา นอกจากนี้ ต้องหาแกนนำเดี่ยวแกนนำกลุ่ม มีกิจกรรมรองรับ มีกองทุน มีกัลยาณมิตรที่จะขยายวงในการขับเคลื่อนงานออกไปด้วย

แนะอาสาสมัครช่วยน้ำท่วมอย่าตะลุมบอน