posttoday

กฟผ.ชะลอระบายน้ำ2เขื่อนใหญ่

18 กันยายน 2555

กฟผ.ชะลอการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล เหลือวันละ 1-2 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ลดผลกระทบน้ำท่วมภาคกลาง

กฟผ.ชะลอการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล เหลือวันละ 1-2 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ลดผลกระทบน้ำท่วมภาคกลาง

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อย่างใกล้ชิดตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยขณะนี้กฟผ.ได้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนทั้ง 2 เหลือ 1-2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน จากปกติที่จะมีการระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 20-30 ล้านลบ.ม. เพื่อลดผลกระทบปัญหาน้ำท่วมในภาคกลาง

สำหรับปริมาณการกักเก็บน้ำของทั้ง 2 เขื่อนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมาก โดยเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ระดับ 63% ของความจุเขื่อน รองรับน้ำได้อีก 3,000 ล้านลบ.ม. ส่วนเขื่อนภูมิพลกักเก็บที่ 56% ของความจุเขื่อนรองรับน้ำได้อีก 6,000 ล้านลบ.ม. รวม 2 เขื่อน สามารถรับน้ำได้เพิ่มอีก 9,000 ล้านลบ.ม. โดยเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 50 ลบ.ม. ต่อวัน ส่วนเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำไหลเข้า 30-40 ล้านลบ.ม.ต่อวัน

"เมื่อเทียบระยะเวลาที่คาดว่าฝนจะตกหนัก น่าจะเหลืออีกไม่เกิน 1เดือนทำให้มั่นใจว่าการกักเก็บน้ำในเขื่อนจะไม่มีทางเต็ม 100% แน่นอน และคงไม่เกิดน้ำท่วมหนักเช่นเดียวกับปีที่แล้ว เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังไหลอยู่ที่ 1,800 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที โดยยังมีความสามารถรับน้ำได้ที่ 2,500 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้นความสามารถในการระบายน้ำยังเหลืออยู่อีกมาก"นายสุทัศน์กล่าว

ทั้งนี้ การที่เขื่อนยังคงต้องมีการระบายน้ำออก เนื่องจากยังต้องระบายน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงแม่น้ำ และในพื้นที่ปลายน้ำต้องการน้ำเพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา แต่การระบายน้ำออกจากเขื่อนในระดับนี้ถือว่าระบายออกมาในระดับที่น้อยที่สุดแล้ว เพื่อต้องการให้แม่น้ำน่านมีน้ำน้อยที่สุด และให้น้ำจากแม่น้ำยมไหลลงสู่แม่น้ำน่านเพื่อบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ในบางอำเภอ เกิดขึ้นเนื่องจากแม่น้ำยมเป็นลุ่มน้ำเดียวที่ไม่มีระบบการจัดการน้ำ โดยแม่น้ำยมสามารถรับน้ำได้ประมาณ 3,000 ล้านลบ.ม. ต่อปี หากมีน้ำไหลเข้ามามาก น้ำจะล้นออกมาท่วม ซึ่งการบริหารจัดการในเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกฟผ. และคงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร

สำหรับสถานการณ์น้ำในปีนี้ยังคงดีกว่าในปีที่แล้วมาก เพราะปริมาณน้ำยังมีน้อยกว่าปีก่อน รวมทั้งรัฐบาลได้ดำเนินการดูแล แก้ไข ปัญหาในช่วงปลายน้ำไปได้มากแล้ว ส่งผลให้การระบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเขื่อนยังสามารถรองรับน้ำที่นะเข้ามาเพิ่มได้อีกมาก โดยการบริหารน้ำในเขื่อนยังคงยึดหลักการเรื่องการป้องกันน้ำท่วมมากกว่า