posttoday

เธอคือดอกไม้ที่ชายแดนภารกิจนี้เพื่อชาติ

12 กันยายน 2555

ผ่านมาย่างเข้าปีที่ 9 นับตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ถูกจุดขึ้น

โดย...ธนก บังผล

ผ่านมาย่างเข้าปีที่ 9 นับตั้งแต่เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ถูกจุดขึ้น การรับรู้ของคนไกลมักมองในทัศนะที่หวาดกลัว คิดว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต่เหตุการณ์ความรุนแรงแค่ระเบิด ยิง ฆ่ากันตาย แบบรายวัน และเพราะทัศนะที่ระบายเปี่ยมด้วยอคตินั้น จึงทำให้มุมเล็กๆ มุมสวยงามถูกมองข้ามไป

นุจรี พาณิชย์เจริญรัตน์ จบทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังสำเร็จการศึกษามาหมาดๆ เมื่อเดือน มี.ค. เธอเลือกที่จะลงมาใช้ทุนเป็นทหารอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

“พอเรียนจบหนูก็เลือกที่จะใช้ทุนที่ค่ายอิงคยุทธฯ โดยมีให้เลือกว่าจะใช้ทุนในสังกัดไหน หนูก็เลยเลือกกองทัพบก และรู้ว่ากองทัพบกมีเลือก 6 ตำแหน่ง หนูก็เลือกที่จะมาอยู่ที่ จ.ปัตตานี”

หน้าที่หลักของ นุจรี ระหว่างที่ต้องประจำอยู่ศูนย์กองทัพบก คือ ทำฟันปลอมให้กับประชาชนเพื่อนำไปรักษาประชาชนขณะที่ออกหน่วย “หนูมาตอนที่จบใหม่ๆ ถึงขณะนี้ก็ประมาณ 5 เดือนแล้ว ที่นี่มีศูนย์แพทย์และพยาบาล รู้สึกสนุกดี และบางทีเมื่อถึงผลัดพักก็ได้กลับบ้านที่กรุงเทพฯ ด้วย บางครั้งก็ออกหน่วย แต่หน้าที่ส่วนใหญ่คือทำฟันปลอม ส่วนถอนฟันหรือทันตกรรมอื่นๆ นั้น ก็ต้องให้เกียรติหมอ แม้ว่าทันตแพทย์ที่เรียนมาจะต้องทำได้หมดทั้งถอนฟัน ขูดหินปูน ไม่เฉพาะทาง” นุจรี เล่าให้ฟัง

เธอคือดอกไม้ที่ชายแดนภารกิจนี้เพื่อชาติ

 

หลังจากลงพื้นที่มาหลายครั้ง นุจรี บอกว่าปัญหาฟันของคนจังหวัดชายแดนใต้ คือ การไม่ดูแลช่องปาก

“คนที่นี่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพช่องปาก แม้แต่อายุน้อยๆ เองก็ใส่ฟันปลอมกันแล้ว โดยส่วนใหญ่จะมี 2 อย่าง คือ รักษารากฟันกับการถอนฟัน คนที่นี่ไม่มีเวลารักษารากฟัน เพราะการรักษารากฟันหมอจะนัดหลายครั้งและต้องเสียเงิน ฟันปลอมที่นี่ก็เลยจะใช้กันเยอะ ซึ่งโครงการศูนย์ทันตแพทย์ทหารบกของชายแดนใต้ ที่นอกจากจะอยู่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธฯ แล้ว ยังมีที่ค่ายสิรินธร กับพระตำหนักทักษิณ ถ้าชาวบ้านสนใจก็จะผ่านมาทาง ฉก.ทหาร ให้พาไปได้ทั้ง 3 แห่ง” นุจรี บอก

โดยเฉพาะโครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่มีฟันปลอมพระราชทานฟรี ซึ่งปกติจะมีราคาอยู่ที่ 1,000-2,000 บาท สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่กับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่รายวัน ทันตแพทย์สาวคนนี้บอกว่าไม่ได้มีความกังวลหรือกลัวอะไร

“ไม่ค่อยกลัวค่ะ ถ้ากลัวก็คงไม่ลงมา เมื่อก่อนก็เคยได้ยินแต่ข่าว ไม่ได้สัมผัสเลย ก็เลยอยากลงมาสัมผัส ถ้าลงมาแล้วกลัว ก็จะทำให้เราทำงานไม่สนุก ตอนนี้ 5 เดือนแล้ว ยังไม่รู้ว่าต้องอยู่นานเท่าไร แต่อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต่ำกว่า 1 ปี” นุจรี กล่าว

นอกจาก นุจรี ที่ลงจังหวัดชายแดนใต้ไปทำงานเป็นทันตแพทย์แล้ว ยังมี ภญ.ธิดารัตน์ ชัยมงคล สาวหาดใหญ่ที่สังกัดศูนย์แพทย์ทหารบกจังหวัดชายแดนใต้ (ศพบ.จชต.) โดยเธอบอกว่า ยารักษาโรคหรือยาน้ำต่างๆ นั้น หากขาดแคลนจะมีการจัดรายการไปให้กับกระทรวงสาธารณสุขเอง

“ยาส่วนมากที่ชาวบ้านมักจะใช้ คือ ยาแก้คัน แก้ปวด ปวดเมื่อย หวัด โดยเฉพาะยานวดที่มีมาขอเยอะ ชาวบ้านบอกว่าใช้ยานวดแล้วหาย ส่วนยาคันนั้นก็เพราะว่าใส่ผ้าคลุม เลยต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา แก้คัน”

เธอคือดอกไม้ที่ชายแดนภารกิจนี้เพื่อชาติ

ภญ.ธิดารัตน์ บอกอีกว่า ยาเหล่านี้ต้องสั่งมาเดือนละครั้ง และจะมีการออกชุดตรวจพร้อมกับทันตกรรม โดยถ้ายาไม่พอสามารถขอจากค่ายสิรินธร หรือศูนย์แพทย์อิงคยุทธฯ ได้ ภารกิจของเธอนอกจากจะต้องจัดยาให้กับคนไข้แล้ว ยังต้องลงพื้นที่ไปตามหน่วยในหมู่บ้านและอำเภอที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง

“ปกติแล้วจะออกชุดกับหน่วยเฉพาะกิจ ซึ่งจะออกไปทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ 4 อำเภอ จ.สงขลา” ภญ.ธิดารัตน์ กล่าว

ไม่เพียงเฉพาะทหารสาว ยังมีชมรม “พยาบาลรักบ้านเกิดแทนคุณแผ่นดิน” โดยมีการรวมตัวกันของเหล่าพยาบาลที่ออกไปเรียนยังต่างจังหวัดแล้วกลับมาทำงานที่บ้าน เช่น อารีฟิน มูซอ อายุ 24 ปี บ้านเกิดอยู่ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา แต่ไปเรียนจบที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีที่ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นรองประธานชมรมพยาบาลรักบ้านเกิดฯ

“นอกจาก อ.ยะหา แล้ว ยังรวมตัวกันกับพยาบาลที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จัดสรรพยาบาลเยี่ยมบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านลำบากในการรับบริการ”

อารีฟิน กล่าวอีกว่า มีพยาบาลรักบ้านเกิดฯ 3 อำเภอ อยู่ 60 คน แต่ใน 3 จังหวัดมีทั้งหมดรวมแล้ว 500 คน ซึ่งสามารถสนับสนุนหน่วยแพทย์ทหารบกภายใต้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ทั้งยาและเครื่องมือการแพทย์

กลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มนี้ทำงานด้วยอุดมการณ์ ตั้งใจรับใช้คนป่วยคนไข้ที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบ

เป็นอีกมุมความสวยงามจากหน่วยแพทย์ทหารบกที่อาสาทำงานด้วยหัวใจ