posttoday

‘นักสืบคดีจราจร’ แกะรอยถึงสาเหตุ เชื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

10 กันยายน 2555

ไม่เพียงแค่เหตุการณ์รถสปอร์ตหรูของตระกูล “อยู่วิทยา” ที่ก่ออุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างอนาถเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเท่านั้น

ไม่เพียงแค่เหตุการณ์รถสปอร์ตหรูของตระกูล “อยู่วิทยา” ที่ก่ออุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างอนาถเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนเท่านั้น แต่อุบัติเหตุตามท้องถนนทั่วประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลการเดินทางหรือไม่ก็ตาม นั่นทำให้ พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ต้องพลิกบทบาทตัวเองจากนักสืบที่เคยไขคดีอาชญากรรมในอดีต หันกลับมาเป็นมือสืบสวนคดีจราจรบนท้องถนน หลังพบว่าในแต่ละปีมี “คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มากกว่าคดีฆาตกรรม”

“ในแต่ละปีมีคนตายจากอุบัติเหตุมากกว่าการเกิดอาชญากรรม แต่ตำรวจกลับไปทุ่มเทกับคดีฆาตกรรม ทั้งที่การตายจากทั้งสองกรณีสามารถป้องกันได้ แต่ตำรวจกลับไม่มุ่งที่จะแก้ปัญหาการตายจากอุบัติเหตุ หรือสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทุกวันนี้มีแต่นักสืบคดีอาชญากรรม แต่ไม่มีใครมุ่งมั่นแก้ไขสืบสวนให้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ และนำไปแก้ไข” พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าว

เขาโชว์ตัวเลขให้ดูว่า การตรวจสอบสถิติการตายจากอุบัติเหตุในรอบ 10 ปีย้อนหลัง พบมีคนตายทั้งสิ้นราว 1.2 หมื่นคน ในขณะที่มีคนตายจากคดีฆาตกรรมเพียง 1 ใน 3 หรือประมาณ 4,000 กว่าศพเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เขาโดดเข้ามาจับงานนี้ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการตายและบาดเจ็บบนท้องถนนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งนี้ โครงการของเขากำลังก้าวเข้าสู่ในระยะที่ 2 ที่เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ในชื่อโครงการ การพัฒนาระบบงานสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ ระยะที่ 2 ที่ สสส.ทุ่มเงินอีก 19 ล้านบาท เป็นทุนให้ตำรวจ และนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเข้ามาแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วประเทศ โดยมี พล.ต.ต.โกสินทร์ ที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็น “นักสืบคดีจราจร” เป็นหัวหน้าทีมเวิร์ก

พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวว่า การตายจากอุบัติเหตุไม่ต่างอะไรกับสึนามิ แต่คนไม่กระทบกระเทือนเพราะเป็นการตายสะสมต่อเนื่อง ตนจึงได้เสนอตัวในที่ประชุมสัมมนาตำรวจ ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ว่าตำรวจเองจะเป็นเจ้าภาพในการรับภาระการจัดการด้านอุบัติเหตุบนท้องถนนมารับผิดชอบเอง เพราะไม่เห็นด้วยที่ไปอยู่ในมือของ ปภ. เนื่องจากมีหน้าที่ภารกิจเยอะอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม โรคระบาด ฝนแล้ง จึงไม่มีเวลามาดูงานเรื่องการแก้ไขอุบัติเหตุอย่างจริงจัง

‘นักสืบคดีจราจร’ แกะรอยถึงสาเหตุ เชื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

 

“การที่ตำรวจขอรับเป็นเจ้าภาพเอง เพราะว่าเป็นหน่วยที่ไปถึงที่เกิดเหตุทุกครั้ง เพียงแต่ที่ผ่านมาตำรวจเข้าไปสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำความผิด แต่ไม่ได้สืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อดูว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบเดิมขึ้นอีก นี่คือข้อเสียของตำรวจ ที่ไม่แสวงหาสาเหตุ ทั้งที่การจะแก้ปัญหาต้องเริ่มที่สาเหตุความปลอดภัยถึงจะเกิดขึ้นได้”พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าว

เขากล่าวต่อว่า เมื่อปีที่ผ่านมาคณะทำงานจึงได้เริ่มแสวงหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุว่ามีอะไรบ้าง จนพบว่ามีอยู่ 4 องค์ประกอบหลัก ประกอบด้วย 1.พฤติกรรมของผู้ขับขี่ รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ใช้ถนน ไม่ว่าจะเป็นเดินเท้า ข้ามถนน หรือทำกิจกรรมบนถนน ฯ 2.สภาพของรถยนต์ และพาหนะอื่นๆ เช่น ยาง เบรก หรือไฟส่องสว่าง ฯ 3.พื้นผิวของถนนที่อาจจะไม่ดี เช่น เป็นหลุมเป็นบ่อ มีการก่อสร้าง หรือสร้างไม่ถูกระบบวิศวกรรมจราจร รวมทั้งส่วนควบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงไฟส่องสว่าง และป้ายจราจร เป็นต้น และที่ไม่ค่อยมีใครคำนึกถึงคือ 4.สภาพแวดล้อมของถนนที่ไม่ดีพอ เช่น มีหมอก ควัน ฝนตก น้ำท่วม ดินโคลน หรือก้อนหิน เศษไม้ เป็นต้น

พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากองค์ประกอบของการเกิดอุบัติเหตุแล้ว คณะทำงานยังคำนึงถึงเหตุการณ์หลังการชนที่นำไปสู่การบาดเจ็บและตายจากอุบัติเหตุด้วย ซึ่งก็พบว่ามีอยู่ 4 องค์ประกอบเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 1.สภาพแวดล้อมนอกแนวถนน ซึ่งเมืองไทยยังไม่มีเคลียร์โซน ขณะเดียวกันยังมีต้นไม้ เสาไฟฟ้า อีกจำนวนมาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วรถกระเด็นออกนอกถนน เมื่อไปกระแทกกับสิ่งต่างๆ นอกแนวถนนก็ทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ หากไม่มีราวเหล็กป้องกัน

2.ระบบนิรภัยในตัวรถ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วต้องพิจารณาถึงถุงลมนิรภัย เข็มขัดนิรภัย เพื่อป้องกันไม่ให้กระเด็นออกนอกตัวรถ ขณะเดียวกันโครงการความแข็งแรงของห้องโดยสารก็มีส่วนสำคัญ หากเป็นรถบัสโดยสารก็ต้องดูถึงการยึดติดเก้าอี้กับตัวรถด้วยว่าแข็งแรงหรือไม่ เพราะการที่เบาะหลุดจากตัวรถก็ทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ 3.สภาพร่างกายของคนขับ โดยสาร และคนเดินเท้า หากเป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุ ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากกว่าในช่วงหลังเกิดอุบัติเหตุแล้ว ทั้งนี้พบว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี มียอดเสียชีวิตถึง 8% จึงต้องพิจารณาว่าควรให้เด็กหรือทารกซ้อนรถจักรยานยนต์หรือไม่ หรือในรถยนต์เองก็ควรมีเบาะเฉพาะสำหรับเด็กด้วย

ส่วนองค์ประกอบที่ 4 ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการกู้ภัย รวมถึงการนำส่งโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องดูถึงการรักษาพยาบาลหลังจากออกจากห้องฉุกเฉินด้วย เนื่องจากเราจะนับว่าเป็นการตายจากอุบัติเหตุหรือไม่ จะต้องดูเวลาหลังจากออกจากห้องฉุกเฉิน หากเสียชีวิตภายใน 30 วันหลังออกจากห้องฉุกเฉิน ก็ยังถือว่าเป็นการตายต่อเนื่องจากอุบัติเหตุ ดังนั้นผลการศึกษาทั้งสองชุดล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการตายจากอุบัติเหตุทั้งสิ้น และเป็นสิ่งที่ตำรวจจะต้องสืบสวนให้รู้ว่า การตายนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร เพื่อนำไปแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก

พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวต่อว่า ในระยะที่ 2 ของโครงการนี้จะเริ่มให้สถานีตำรวจจำนวน 420 แห่งเป็นโครงการนำร่อง โดยตำรวจจราจรจะต้องเริ่มกรอกแบบฟอร์มที่ออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อสืบสวนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุให้ได้ จากนั้นก็กรอกข้อมูลลงไปในเว็บไซต์ www.roadsafetyteam.police.go.th ซึ่งสามารถประมวลผลการเกิดอุบัติเหตุได้ เรียกดูข้อมูลได้ รวมทั้งจะปรากฏตำแหน่งจุดที่เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย เมื่อมีข้อมูลแล้วคณะทำงาน หรือระดับโรงพักเองก็จะต้องประมวลผล และประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์เพื่อสรุปและหาทางออกเพื่อแก้ไขอุบัติเหตุ ซึ่งหากพบว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมก็เสนอขึ้นมาตามลำดับขั้นต่อไป

“หากโครงการในระยะที่ 2 นี้จบลง อาจจะมีการเสนอให้เพิ่มตำรวจจราจรให้มากขึ้น และต้องให้ตำรวจจราจรรับรู้หน้าที่ด้วย ไม่ได้มีหน้าที่แค่อำนวยความสะดวกจราจร หรือแจกใบสั่งเท่านั้น แต่ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุด้วย หากมีการเพิ่มจราจรขึ้นแล้วก็จะสามารถทำให้ลักษณะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานก็จะทยอยให้ความรู้กับตำรวจจราจรทั่วประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นรวม 6 เดือน” พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่า