posttoday

กรมสุขภาพจิตห่วงเด็กไทยฆ่าตัวตายพุ่ง

06 กันยายน 2555

กรมสุขภาพจิตแนะผู้ปกครองเฝ้าระวังวัยรุ่นไทยฆ่าตัวตายพุ่งแน่ะจับตาช่วงใกล้สอบ GAT /PAT

กรมสุขภาพจิตแนะผู้ปกครองเฝ้าระวังวัยรุ่นไทยฆ่าตัวตายพุ่งแน่ะจับตาช่วงใกล้สอบ GAT /PAT

กรมสุขภาพจิตห่วงเด็กไทยฆ่าตัวตายพุ่ง ภาพประกอบข่าว

นพ.ทวี ตั้งเสรี รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในงานป้องกันการฆ่าตัวตายโลกว่า เมื่อระหว่างปี 2550-2554 พบว่า ไทยมีวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 852 คน หรือเฉลี่ย 170 คนต่อปี เฉพาะในปี 2554 พบว่าวัยรุ่นไทยอายุระหว่าง 15-19 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 3.43 ต่อประชากรแสนคน

วัยรุ่นชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าวัยรุ่นหญิงเป็น 3 เท่า ในขณะที่วัยรุ่นหญิงจะมีลักษณะการพยายามทำร้ายตนเองมากกว่าวัยรุ่นชายเป็น 3 เท่า

ที่น่าสนใจคือจำนวนร้อยละ 51.1 ของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายอยู่ในช่วงระหว่างศึกษา ขณะที่จำนวนร้อยละ 25.1 ไม่ได้เรียนต่อในชั้นมัธยม และประกอบอาชีพรับจ้าง, เกษตรกรรม โดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่คือการผูกคอตายร้อยละ 75.29 กินยาฆ่าแมลงร้อยละ 16.47

อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเป็นเทศกาลสอบ GAT และ PAT รวมถึงการสอบตรงของแต่ละคณะและสาขาต่างๆ จึงเป็นช่วงที่กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่จะมีความเครียดในการเตรียมตัวสอบ และบางครั้งไม่สามารถจัดการกับความเครียดในตนเองได้ จนพัฒนาเป็นภาวะซึมเศร้า ซึ่งหากไม่สามารถหันหน้าไปปรึกษาใครได้ ไม่มีใครเข้าใจและรับฟัง มองไม่เห็นทางออกของปัญหา อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกสิ้นหวัง ไร้คุณค่าในตนเอง มีความคิดฆ่าตัวตาย

ดังนั้นผู้ปกครองหรือคนรอบข้างจะต้องให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ด้วยการเป็นที่ปรึกษา รับฟัง เข้าใจและให้กำลังใจ ตลอดจนคอยสังเกตอาการของภาวะซึมเศร้า หรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น การเขียนจดหมาย หรือโทรศัพท์เพื่อเป็นการสั่งลา

การฆ่าตัวตายถือเป็นสาเหตุอันดับ 3 ของการเสียชีวิตวัยรุ่นไทย เนื่องจากอยู่ในวัยที่อารมณ์ร้อนแรง หุนหันพลันแล่น ประสบการณ์ชีวิตน้อย จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องเร่งหาทางป้องกัน ส่วนมูลเหตุจูงใจให้กระทำการดังกล่าวจะเป็นลักษณะกะทันหันเมื่อต้องประสบภาวะวิกฤติมากกว่าปัญหาสุขภาพจิตที่เดิม เช่น ปัญหาการเรียน สัมพันธภาพ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 16.8 เคยมีประวัติทำร้ายตัวเองมาก่อน

เมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนจังหวัดที่มีวัยรุ่นฆ่าตัวตายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ ส่วนในกรุงเทพมหานครวัยรุ่นคิดฆ่าตัวตายคิดเป็นร้อยละ 2.9 ของวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด ทั้งนี้ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรอยู่มาก อัตราการฆ่าตัวตายที่ปรากฏจึงเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนประชากรเท่านั้น แต่ที่จังหวัดน่าห่วงคือกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการฆ่าตัวตายที่ไม่ได้ถูกรายงานเข้ามาในระบบอีกไม่น้อย