posttoday

สคบ.อาเซียนผนึกกำลังคุ้มครองผู้บริโภค

28 สิงหาคม 2555

สคบ.อาเซียน 10 ประเทศนัดประชุม หามาตรการเยียวยาข้ามแดน ระงับการขายสินค้า ที่ทำความเสียหายแก่ผู้บริโภค

สคบ.อาเซียน 10 ประเทศนัดประชุม หามาตรการเยียวยาข้ามแดน ระงับการขายสินค้า ที่ทำความเสียหายแก่ผู้บริโภค

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวันที่ 4-6 ก.ย.นี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) 10 ประเทศในอาเซียน จะประชุมร่วมกันที่ประเทศไทย เพื่อหามาตรการเยียวยาข้ามแดน และ การระงับการขายสินค้า ที่ทำความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน ของผู้บริโภคจากสินค้าที่ผลิตในแต่ละประเทศ เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(AEC) ในปี 2558

"พอเปิดเสรี ตลาดจะกลายเป็นตลาดเดียว ต่างประเทศก็เข้ามาขายสินค้าในไทยได้ เราก็ไปขายสินค้าให้กับประเทศอื่นได้ ที่อาจจะทำความเสียหายแก่ผู้บริโภค จึงต้องร่วมกันกำหนดมาตรฐานการเยียวยาความเสียหายข้ามประเทศ และ การสั่งระงับการขายสินค้านั้นๆ จะทำอย่างไร"นายวรวัจน์ กล่าว

นายวรวัจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันสคบ.ในไทย ได้ดึงบริษัทประกันภัยเข้ามาทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากผลิตภัณฑ์(Product Liability Insurance) ซึ่งจะเข้ามาชดใช้ความเสียหายแทนเจ้าของสินค้าที่ซื้อประกันดังกล่าว โดยจะคุ้มครองผู้บริโภคทั่วโลกที่มีการส่งสินค้าออกไปขาย ภายใต้โครงการมอบตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค แก่ผู้ประกอบการที่ซื้อประกันภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า จะได้รับการชดใช้หากได้รับความเสียหายจากสินค้านั้นๆ

ขณะที่ บริษัทที่ไม่มีการทำประกันภัย และ ไม่มีการชดใช้ความเสียหายแก่ผู้บริโภค ทางสคบ.แต่ละประเทศมีอำนาจในการที่จะระงับการขายสินค้านั้นๆ ในประเทศของตัวเอง เพื่อปกป้องผู้บริโภค

"จะช่วยลดคดีลงไปเยอะมาก เพราะมีประกันภัยเข้ามาชดใช้แทน จากเข้ามปัจจุบันที่มีการร้องเรียนาจำนวนมาก และทางสคบ.จะต้องเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการไปฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลใช้เวลาเป็นปีปี ต่อไปถ้ามีการร้องเรียนมา และ เราพิสูจน์แล้วว่าสินค้านั้นๆ สร้างความเสียหายให้ลูกค้าจริง ก็ตัดสินให้บริษัทประกันภัยชดใช้ภายใน 7-10 วัน หากบริษัทประกันภัยไม่ปฏิบัติตาม เราจะถอนรายชื่อบริษัทประกันภัยนั้นออกจากโครงการ"นายวรวัจน์ กล่าว

นายวรวัจน์ กล่าวว่า สคบ.กำลังจะปรับบทบาทใหม่เพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซี ซึ่งเตรียมที่จะรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ผลิตในประเทศสมาชิกอาเซียน แล้วส่งเรื่องไปที่สคบ.ประเทศดังกล่าวให้ดำเนินการส่งให้เจ้าของสินค้าชดใช้

ขณะที่ ในประเทศไทย จะมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสคบ.จะได้นำเงินจากกองทุนชดใช้ให้ก่อนเพื่อให้ได้รับการเยียวยาที่รวดเร็ว แล้วไปเรียกร้องเงินคืนจากเจ้าของสินค้าในภายหลัง ซึ่งขณะนี้กฎหมายดังกล่าวจะเสนอสู่สภาผู้แทนราษฏร์ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าเป็นวาระที่ 2 และถ้าผ่านวาระ 3 แล้ว จะมีการกำหนดวงเงินกองทุนเริ่มต้น และรายละเอียดของกองทุนอีกครั้ง