posttoday

รสนาย้ำ ต้องตั้งกระทรวงพลังงานหมุนเวียน

28 สิงหาคม 2555

“รสนา” ย้ำ ต้องตั้ง “กระทรวงพลังงานหมุนเวียน” เปิดแข่งขันเสรี “ปิโตรเลียม- พลังงานหมุนเวียน” ให้ประชาชนเลือก

“รสนา” ย้ำ ต้องตั้ง “กระทรวงพลังงานหมุนเวียน”  เปิดแข่งขันเสรี “ปิโตรเลียม-  พลังงานหมุนเวียน” ให้ประชาชนเลือก 

รสนาย้ำ ต้องตั้งกระทรวงพลังงานหมุนเวียน

น.ส.รสนา  โตสิตระกูล สว.กทม.   กล่าวว่า  เรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และส่วนตัวขอย้ำว่า ต้องมีการตั้งกระทรวงพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมีอิสระและมีเอกภาพ  ทั้งนี้ประเทศไทยประสบปัญหาเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกคือการต่อสู้ระหว่างการกินรวบทางอำนาจซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มการเมืองกับพวกพ้อง กับ การกระจายอำนาจซึ่งเป็นเรื่องของประชานชน   โดยนโยบายด้านการพลังงานทั้งหมดถูกครอบงำโดยธุรกิจพลังงานปิโตรเลียมที่มาจากฟอสซิล  โดยไม่มีส่วนร่วมจากประชาชนเลย

ทั้งนี้การเกิดขึ้นของพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นได้ยากมาก  หากต้องการมีการปฏิวัติพลังงานจริงๆ  ต้องเรียกร้องให้มีการแยกกระทรวงพลังงาน  โดยแบ่งเป็นกระทรวงพลังงานด้านการปิโตรเลียม และ กระทรวงพลังงานหมุนเวียน  เพื่อให้มีการแข่งขัน   ไม่เช่นนั้นพลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนผลิตออกมาถูกควบคุมโดยพลังงานปิโตรเลียมแน่นอน เช่น  การผลิตเอทานอลที่ควรเป็นพลังงานทางเลือก แต่กลับทำไม่ได้กฎหมายไม่เอื้อทำให้ต้องขายให้กับบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่เท่านั้น  โดยรับซื้อในราคา 16 บาท แต่นำมาขายประชาชนในราคา 23 บาท   เห็นได้ว่าธุรกิจปิโตรเลียมต้องการบอนไซธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทุกชนิดแน่นอน เพราะหากพลังงานหมุนเวียนเกิดได้พวกเขาก็เสียประโยชน์  ซึ่งโครงสร้างด้านพลังงานปิโตรเลียมของไทยถูกผูกขาดอย่างมาก  ไม่มีการกระจายอำนาจ   ดังนั้นหากสภาพแบบนี้ยังคงอยู่พลังงานหมุนเวียนจะเกิดแบบผักชีโรยหน้าให้มันดูสวยงามว่ามีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนแล้ว แต่อยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก และยังมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าและนิวเคลียร์อยู่เหมือนเดิม 

"เรายกร่างกฎหมายที่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงานที่อยู่ภายใต้กลุ่มบุคคลที่ส่งเสริมพลังงานปิโตรเลียม  พลังงานหมุนเวียนจึงเกิดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน พลังงานฟอสซิลทั้งหมดจึงถูกผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ  กลางน้ำ   ปลายน้ำ   ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันทั่วโลก ที่กลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองจับมือกันเพื่อให้ได้มาสู่อำนาจรัฐ และการกระจายอำนาจจะไม่เกิดขึ้น   ตอนนี้ประชาชนอยากเห็นโครงการ 1 ชุมชน 1 เมกะวัตต์    แต่สิ่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)  ได้วางระบบประกันกำไรให้กับ กฟผ.  8.4% ต่อการลงทุน ดังนั้นไม่มีทางที่ กฟผ. จะเลิกสร้างโรงไฟฟ้า เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสร้างกำไรได้ ยิ่งการลงทุนสูงเท่าใด กำไรก็จะสูงมากขึ้นเท่านั้น  ซึ่งหากดูจากแผนพีดีพีอีก 20 ปีจากนี้ไป เราต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า 4 แสนล้านบาท    ดังนั้นพลังงานจึงเป็นตัวดูดงานจากกระเป๋าของเราไปสู่กลุ่มธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มอำนาจการเมือง ประชาชนทั่วไปต้องเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้"น.ส.รสนากล่าว