posttoday

สศช.เผยเด็กไทยซึมเศร้า-อีคิวลด

27 สิงหาคม 2555

สศช.แถลงรายงานภาวะสังคมไตรมาส2 พบเด็กไทยซึมเศร้า-อีคิวลดลง ขณะที่ยอดผู้ว่างงานเพิ่ม 3 แสนคน

สศช.แถลงรายงานภาวะสังคมไตรมาส2 พบเด็กไทยซึมเศร้า-อีคิวลดลง ขณะที่ยอดผู้ว่างงานเพิ่ม 3 แสนคน

สศช.เผยเด็กไทยซึมเศร้า-อีคิวลด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  แถลงสรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาส 2 ปี 2555 พบว่า ด้านคุณภาพคน ประเทศยังอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบเรื่องภาษาอังกฤษและความหลากหลายของภาษาที่ใช้ในการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยไทยมีคะแนนการทดสอบการใช้ภาษาอังกฤษหรือโทเฟล (TOEFL) เฉลี่ยอยู่ในลำดับที่ 55 ของโลก และยังต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ส่วนปัญหาสุขภาพจิต พบว่าเด็กไทยระดับมัธยมถึงอุดมศึกษาประมาณ 1 ล้านคน เสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิต มีอาการซึมเศร้าและหงุดหงิดไม่รู้สาเหตุ

ด้านพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของคนในสังคม เยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 250,000 คน คนไทยอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่เกือบ 15 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ 14-24 ร้อยละ 14.8 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 0.2 ความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) ของคนไทยลดลง ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ จากการสำรวจอีคิวของเด็กในปี 2554 อยู่ที่ 169.72 ลดลงจากปี 2545 ซึ่งอยู่ที่ 186.42 คาดว่ามาจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

ขณะที่อัตราการว่างงานพบว่าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.85 จากประชากรวัยทำงาน หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 334,121 คน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ในขณะที่กำลังคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีมากขึ้น มีผู้จบการศึกษาใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวน 521,199 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ทำให้กำลังแรงงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1

สำหรับความต้องการจ้างงานของตลาดเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.6 เนื่องจากการลงทุนและผลิตยังไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่อันเนื่องจากภาวะน้ำท่วมในปลายปี 2554 ซึ่งทำให้บางกิจการต้องปิดตัวลง รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนรายได้ที่แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6

นายอาคม กล่าวว่า ด้านปัญหายาเสพติด มีการจับกุมได้เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2554 ร้อยละ 43.9 เนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนตามเป้าหมายอาเซียนปลอดยาเสพติด ส่วนการค้ามนุษย์ไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ต้องจับตามองติดต่อกันเป็นปีที่สามแล้ว เนื่องจากแผนป้องกันไม่มีความต่อเนื่องและจริงจัง

สำหรับการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า จะต้องเน้นบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีขึ้น มีการลงทุนด้านบุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ และระบบการบริการ ต้องผลิตบุคลากรให้เพียงพอ กระจายอย่างทั่วถึง และอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ชาวต่างชาติที่มารับบริการ รวมไปถึงการพัฒนาระบบข้อมูลและจัดทำข้อมูลแรงงานต่างประเทศ