posttoday

รบ.หนุนแปลงวิจัยบนหิ้งให้กินได้-รับเออีซี

24 สิงหาคม 2555

รัฐบาลประกาศสนับสนุนแปลงงานวิจัยบนหิ้งลงมาสู่ประชาชนเข้าถึงง่ายเน้นใช้งานเชิงเศรษฐกิจตั้งรับสู่ประชาคมอาเซียน

รัฐบาลประกาศสนับสนุนแปลงงานวิจัยบนหิ้งลงมาสู่ประชาชนเข้าถึงง่ายเน้นใช้งานเชิงเศรษฐกิจตั้งรับสู่ประชาคมอาเซียน

นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานภาคการประชุม “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2555 และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูประบบวิจัย เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติจัดขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยของหน่วยงานในระบบวิจัย สถาบันการศึกษา และบุคลากรด้านการวิจัย โดยนำผลผลิตจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ โดยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม แต่เมื่อพิจารณาถึงระบบการวิจัยของประเทศตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาจะพบว่า เรายังประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากการทำงานมีความซ้ำซ้อนและขาดทิศทางที่แน่นอน ขาดการส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง หรือที่เรียกกันว่า งานวิจัยขึ้นหิ้ง นอกจากนั้น ยังขาดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งในระดับนโยบายการบริหารจัดการทุนวิจัย และการดำเนินการวิจัย รวมทั้งขาดการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานวิจัยกับผู้ที่จะใช้ผลงานวิจัย

สำหรับแนวทางการปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ คือ การกำหนดนโยบายและเป้าหมายของการวิจัยที่มีความชัดเจน โดยจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่จำเป็นและเร่งด่วน และมีผลกระทบในวงกว้างไว้ในลำดับต้น ๆ การสร้างเอกภาพการจัดสรรทุนวิจัยของประเทศ ต้องมีกลไกสนับสนุนให้มีการนำความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีส่วนร่วมในการผลักดันความรู้จากงานวิจัยลงสู่ชุมชน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจก็ควรผลักดันผลผลิตจากการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ ต้องมีกลไกที่จะกระตุ้นให้นักวิจัยทำงานวิจัยในสายพัฒนาชุมชนให้มากขึ้น โดยให้สามารถใช้ผลงานดังกล่าว เพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งวิชาการได้ ต้องสร้างแหล่งความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้ พัฒนานักวิจัยและบุคลากรด้านการวิจัยทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ โดยต้องผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่จะใช้งาน ติดตามและประเมินผลการวิจัยในภาพรวมของประเทศ จัดหาและการบริหารจัดการทรัพยากรสำหรับงานวิจัยอย่างเหมาะสมและพอเพียงทั้งในเรื่องของทุนและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัย โดยมีสิ่งท้าทาย คือ การค้นคว้าและวิจัย เพื่อเตรียมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นปีที่ 7 มีแนวคิดหลัก คือ “วิจัยเพื่อการเรียนรู้ สู่การนำไปใช้ประโยชน์” แบ่งการนำเสนอผลงานออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ งานวิจัยเพื่อนำสู่ประชาคมอาเซียน งานวิจัยเพื่อรองรับภัยพิบัติ เทคโนโลยีและโรคอุบัติใหม่ งานวิจัยเพื่อคุณภาพชีวิต งานวิจัยเพื่อโลกสีเขียว งานวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม และงานวิจัยเพื่อการเกษตร โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 สิงหาคม 2555 และกิจกรรมในงานประกอบด้วย ภาคนิทรรศการกว่า 500 ผลงาน ภาคการประชุม และกิจกรรมส่งเสริมงานวิจัย เช่น คลินิกวิจัย และการนำเสนอผลงานวิจัย เป็นต้น รวมทั้งการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน ครั้งที่ 1 เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีด้านการวิจัยของไทยและจีน

จากนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำคีย์การ์ด Research & Inspiration ประกอบบนแท่นมัลติมิเดีย เพื่อทำพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ และมอบรางวัล 2012 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand สาขาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นรางวัลที่ประกาศเกียรติคุณนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของไทย อายุไม่เกิน 40 ปี และมีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในสาขาวิชาชีววิทยา เคมี คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ โดยจะมอบปีละ 1 รางวัล หมุนเวียนกันไปตามสาขา ซึ่งในปีนี้ผู้สมควรได้รับรางวัล คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ คำเอม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับ Fixed Point Theory and its Applications และ Nonlinear Functional Analysis and Convex Analysis และมีการตีพิมพ์ผลงานในระดับนานาชาติมากกว่า 189 เรื่อง