posttoday

ฟันจนท.แบงก์รัฐปล่อยกู้ซื้อข้าวปลอมหมื่นล.

20 สิงหาคม 2555

ปปท.ส่งปปช.ฟันบอร์ดธนาคารัฐฉาวปล่อยสินเชื่อซื้อข้าวปลอมเสียหายหมื่นล้าน ขยายผลแบงก์พาณิชย์อีก4แห่งร่วมทุจริต

ปปท.ส่งปปช.ฟันบอร์ดธนาคารัฐฉาวปล่อยสินเชื่อซื้อข้าวปลอมเสียหายหมื่นล้าน ขยายผลแบงก์พาณิชย์อีก4แห่งร่วมทุจริต

ฟันจนท.แบงก์รัฐปล่อยกู้ซื้อข้าวปลอมหมื่นล.

พ.ต.อ.ดุษฏี  อารวุฒิ   เลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.)  เปิดเผยว่า  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงนามอนุมัติคดีเจ้าหน้าที่ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อวงเงิน 7.5 พันล้านให้กับเอกชนที่มีการใช้ตั๋วสัญญาปลอมในการสั่งซื้อข้าวจากสวิสเซอร์แลนด์มาค้ำประกัน  ซึ่งตามขั้นตอนจะส่งให้อนุกรรมการและผ่านบอร์ดปปท.ชุดใหญ่

อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ดังนั้นเมื่อผ่านบอร์ดปปท.ชุดใหญ่มาแล้วก็จะส่งให้ปปช.ต่อไป และจะมีการแถลงสื่อมวลชนต่อไป 

เลขาธิการ ปปท. เปิดเผยว่า  พบว่ามีการทำตั๋วสัญญาปลอมหลายใบ และไม่ใช่แค่ได้รับการปล่อยสินเชื่อจากธนาคารของรัฐแล้ว ยังมีการไปขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อื่น อีก3-4 ธนาคาร เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายแล้วประมาณหมื่นกว่าล้านบาท  แต่ปปท. จำเป็นต้องส่งเรื่องดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ธนาคารของรัฐก่อน เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างนำไปสู่การขยายผลในส่วนของธนาคารเอกชนต่อไป

“จากการตรวจสอบมีตั๋วสัญญาการสั่งซื้อข้าวไปสวิสเซอร์แลนด์เป็นตั๋วหลายใบ ตรวจสอบเป็นตั๋วปลอมหมดเท่ากับไม่มีการซื้อก่อนจริง  แปลว่าคุณได้เงินกู้ไปไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่มีอำนาจอนุมัติเงินต้องแก้ตัวปปช.ให้ได้อนุมัติเงินไปได้อย่างไร  เอากระดาษไม่กี่ใบแล้วให้ตั๋วสัญญาใช้เงินได้ไป 7.5 พันล้านบาทเมื่อรวมกับธนาคารพาณิชย์ก็จะคิดเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท”เลขาธิการ ปปท. กล่าว

พ.ต.อ.ดุษฏี   กล่าวว่า   อนุกรรมการพิจารณาเสร็จสิ้นรู้ว่าจะต้องดำเนินคดีกับใครบ้างก่อนส่งให้ ปปช. แต่ละคนก็ถือว่ามีเครดิตในสังคม เรื่องอย่างนี้จะทำไม่ได้หรอกถ้าไม่ใช่ผู้บริหารแบงก์ เพราะเป็นเงินจำนวนมาก แม้จะนำเงินกู้ไปใช้บางส่วนจริงแต่ว่าการที่คุณปล่อยอนุมัติไปไม่ถูกต้อง เงินไม่ใช่ของตัวเอง เป็นเงินภาษีราษฎรที่กระทรวงการคลังสนับสนุน

เลขาธิการ ปปท. กล่าวด้วยว่า ไม่ขอตอบว่าเขาจะนำเงินจำนวนมากนี้ไปใช้ทำอะไร แต่เมื่อมีการทำธุรกรรมดังกล่าว มีปปท.ตรวจสอบชัดเจนแล้วถือว่าเป็นความผิดสำเร็จเมื่อส่งปปช.ถือว่าคดีนี้เกิดขึ้นจะเป็นมูลฐานความผิดการฟอกเงินด้วย

ทั้งนี้คดีการออกตั๋วสัญญาซื้อขายข้าวไปสวิสเซอร์แลนด์เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 โดยพบว่ามีการทำตั๋วสัญญาปลอมจากบริษัทเอกชนซื้อขายข้าวชื่อดังเพื่อค้ำประกันขอสินเชื่อธนาคารรัฐและเอกชน  ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ ) รับมาดำเนินคดีในส่วนการทำตั๋วสัญญาปลอม แต่การดำเนินคดีกับผู้บริหารแบงก์รัฐที่กระทำผิดกลับเงียบหาย ทำให้ปปท.ต้องนำเรื่องนี้ดำเนินการต่อก่อนส่งให้ปปช.เร็ววันนี้