posttoday

อย.สั่งห้ามปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงในหมู

20 สิงหาคม 2555

อย.สั่งห้ามปนเปื้อน “สารเร่งเนื้อแดง” ในหมูเด็ดขาด แม้ว่าในระดับสากลจะยอมรับได้

อย.สั่งห้ามปนเปื้อน “สารเร่งเนื้อแดง” ในหมูเด็ดขาด แม้ว่าในระดับสากลจะยอมรับได้

ภญ.ศรีนวล กรกรชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังสั่งห้ามไม่ให้มีการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงหรือสารซาลบูทามอลในเนื้อสุกรเป็นอันขาด แม้ว่าขณะนี้คณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CAC) จะมีมติอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ได้แล้ว

สำหรับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดง หากสะสมในร่างกายเป็นเวลานานจะเกิดอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก หัวใจเต้นเร็ว มีอาการทางจิตประสาท โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และเบาหวานจะเป็นอันตรายมาก

ภญ.ศรีนวล กล่าวว่า การสั่งห้ามในครั้งนี้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งได้กำหนดให้ต้องตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ในอาหาร ผู้ที่ฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท

ภญ.ศรีนวล กล่าวอีกว่า ข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ว่าสารซาลบูทามอลสามารถนำไปผลิตยารักษาโรคหอบหืดได้ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรกลับนำไปใช้ผิดวิธี โดยนิยมผสมกับอาหารสุกรเพื่อทำให้สุกรมีเนื้อแดงเพิ่มมากขึ้น ขายได้ราคาดี จึงตขอเตือนว่าให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย และหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดไม่มีข้อยกเว้น

ทั้งนี้ วิธีการเลือกซื้อเนื้อสุกรให้สังเกตที่สี หากพบว่าสีแดงจัดผิดปกติก็ไม่ควรซื้อมาบริโภค หากผู้บริโภคพบเห็นเขียงใดหรือฟาร์มใดมีความผิดปกติ ลักลอใส่สารดังกล่าว ให้แจ้งมายังสายด่วน อย. โทร. 1556

ขณะที่ผลการสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อและส่งวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2552-2554 พบการปนเปื้อนสารซาลบูทามอล 12.35% 12.94% และ 20.59% ตามลำดับ ซึ่งสูงขึ้นทุกปี ดังนั้น อย. จะร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น