posttoday

จี้รัฐหนุนชุมชนผลิตพลังงานหมุนเวียน

15 สิงหาคม 2555

ภาคประชาชน-เอกชน จี้รัฐปลดแอกจากกลุ่มทุนพลังงาน สนับสนุนชุมชนผลิตพลังงานหมุนเวียน

ภาคประชาชน-เอกชน จี้รัฐปลดแอกจากกลุ่มทุนพลังงาน  สนับสนุนชุมชนผลิตพลังงานหมุนเวียน

จี้รัฐหนุนชุมชนผลิตพลังงานหมุนเวียน ณัฐวิภา

น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล  ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า   เหตุที่รัฐต้องออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน  เนื่องจากต้องยอมรับว่าเรายังคงต้องใช้ไฟฟ้า แต่ทำอย่างไรที่จะใช้ปฏิวัติการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งเดิมๆ เปลี่ยนมาเป็นการใช้ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยและมีต้นทุนการผลิต ที่ถูกกว่า  เราอยากเห็นในอนาคตที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลมอย่างมีประสิทธิภาพ  ต้องการให้รัฐบาลหลุดพ้นจากกลุ่มทุนด้านพลังงานด้วย  เพราะขณะพี้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตในประเทศไทยมีสูงกว่า8,000 เมกะวัตต์แล้ว  ซึ่งเกือบจะถึง 25% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศที่รัฐตั้งเป้าหมายไว้แล้ว 

ทั้งนี้รัฐจึงควรออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเพื่อทำให้กลไกต่างๆ ในการผลิตพลังงานหมุนเวียนและทำประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดมากได้ง่ายขึ้น 

ส่วนที่มีการระบุว่าพลังงานหมุนเวียนทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นนั้น เรื่องนี้ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีราคาแพง เพราะยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ     ส่วนที่มองว่าถ่านหินมีต้นทุนที่ถูกนั้นไม่เป็นความจริง   เนื่องจากไม่มีการมองถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ดังนั้น  โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงมีต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนแน่นอน

ด้าน นายยุทธการ มากพันธุ์  ตัวแทนศูนย์กสิกรรมท่ามะขามจังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งเป็นศูนย์ศึกษาทดลองพลังงานหมุนเวียนฉบับไทย กล่าวในระหว่างเข้าร่วมงาน “มหกรรมปฏิวัติพลังงานผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ของกรีนพีซว่า    อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน   เนื่องจากประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมและมีวัตถุดิบพร้อม แต่ขาดการส่งเสริมเรื่องการลงทุน เพราะการลงทุนแม้แต่ในขนาดเล็กต้องเป็นหลักล้านขึ้นไป ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนที่จะทำได้ ทำให้กลุ่มทุนเข้ามาลงทุนแทนเพื่อแสวงหากำไร  ทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ซึ่งทำให้นักอนุรักษ์เสียชีวิตไปหลายคน เพราะคนในพื้นที่ดูแลทรัพยากรมาก่อน  อีกทั้งยังมีเรื่องความไม่โปร่งใสในเรื่องการออกนโยบายด้วย    เรื่องเหล่านี้ทำให้โครงการพลังงานหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้ช้ามาก 

“ผมอยากเห็นกฎหมายที่ให้ชุมชนเป็นเจ้าของประโยชน์ทั้งหมดโดยเป็นกลุ่มหรือบริษัทของชาวบ้านเอง เพราะชาวบ้านสามารถทำได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ไบโอแก๊ส หรือโรงไฟฟ้าพลังงานแกลบ  โดยทุกวันนี้รัฐเสียงบประมาณจากการนำเข้าพลังงานสูงมาก   รัฐน่าจะนำเงินตรงนี้มาส่งเสริมชาวบ้านให้มีความรู้ และ  อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านในเรื่องการลงทุนน่าจะมีประโยชน์มากกว่า”นายยุทธการ กล่าว   

นายยุทธการกล่าวว่า ถ้ารัฐออกกฎหมายที่ส่งเสริมเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจังประชาชนที่มีใจจะทำเรื่องนี้อยู่แล้วเอาด้วยแน่นอน  โดยรัฐควรสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี เงินทุน  มีแผนให้ชัดเจน  5-10 ปีต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง อีกทั้งกฎหมายที่ออกมาต้องมีการบูรณาการ  โดยทั้งสนับสนุนให้มีการผลิตพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งต้องสนับสนุนและมีการรับซื้อด้วย ไม่ใช่ผลิตออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ ดังนั้นกฎหมายต้องมีเอกภาพ

ด้าน นายสมชาย   นิติกาญจนา  เจ้าของฟาร์มสุกร เอสพีเอ็ม ฟาร์ม  ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนครบวงจร โดยการนำขี้หมูมาผลิตไบโอแก๊ส   กล่าวว่า     พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนที่แพงกว่าพลังงานฟอสซิลที่ใช้กันตอนนี้ เพราะพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนในการบำบัดของเสียให้เป็นประโยชน์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมององค์รวมว่าใครได้อะไรบ้าง   

นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้มีการซื้อไฟต้องไม่มีการกีดกัน โดยจำกัดโควตาและมีราคาเป็นธรรม การขอใบอนุญาตต้องทำให้ง่ายเพราะประโยชน์เกิดกับประเทศชาติ  การลงทุนควรเป็นโรงงานขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการคุ้มทุนให้ชาวบ้านสามารถผลิตร่วมกันได้ อีกทั้งมหาวิทยาลัยต้องให้ความรู้และการพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและอยอดภูมิปัญญาเดิมด้วย

“เราต้องคิดว่า หากน้ำมัน แก็ส หมด เราจะอยู่กันอย่างไร  ประเทศไทยมีศักยภาพที่สูงมาก  แต่ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนว่าคนที่ต้องการลงทุนเรื่องนี้จะได้อะไร   ดังนั้น  ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม  ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง  และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีพลังงานทดแทนเท่าใด  หากทำไม่ได้ต้องมีการลงโทษเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบ”   นายสมชาย กล่าว

ด้าน  น.ส.กรณ์กนิศ  แสงดี   ตัวแทนจากโรงงานอำพล ฟู๊ด  ซึ่งมีการนำเศษอาหารมาผลิตเป็นพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า   ในฐานะตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม อยากให้มีการมองในองค์รวมว่าพลังงานทดแทนที่จะทำในประเทศคืออะไร ผลประโยชน์และผลกระทบไปอยู่ที่กลุ่มไหนบ้าง อีกทั้งอยากให้ภาครัฐมาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ดูแลเรื่องมลพิษ เรื่องความปลอดภัยและฝ่ายสนับสนุนให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีทิศทางไปในทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย  และมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน  และต้องให้ประชาชน เอกชน วิชาการมีส่วนร่วม

ขณะที่ น.ส.สุขุมาวดี  ทองคำ นักวิจัยเศรษฐศาสตร์  จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า  ในการศึกษาวิจัยของตนเอง ได้ตั้งคำถามว่า “คนจะยินดีจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มหรือไม่ ถ้าไฟฟ้าที่ใช้สามารถลดภาวะโลกร้อนได้”  โดยส่วนใหญ่ 73% ระบุว่า ยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนประชาชนสนับสนุนพลังงานสะอาด

"คนไทยตื่นตัวกับภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด   แต่ปรากฎว่าคนกรุงเทพฯ ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้า40% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด กลับเป็นกลุ่มที่น้อยที่สุดกับการเห็นต้องจ่ายเพิ่มเพื่อพลังงานสะอาด    แต่ภาพรวมคนส่วนใหญ่ยอมจ่ายแพงกว่าหากได้พลังงานที่สะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อน"น.ส.สุขุมาวดีกล่าว

ทั้งนี้กรีนพีซจะจัดสัมมนาปิดท้ายมหกรรมพลังงานหมุนเวียน ในวันเสาร์ที่ 18 ส.ค. นี้  ที่ โดมกู้วิกฤตโลพร้อน  ลานราชมังคลากีฬาสถาน  หัวหมาก  ตั้งแต่เวลา 15.00 – 20.00  น. โดยในเวลา 16.00-17.45 น.