posttoday

เด็กไทยกินผัก-ผลไม้น้อยเสี่ยงโรคสารพัด

12 สิงหาคม 2555

เด็กไทย กว่า 90% กินผักผลไม้ไม่พอ เสี่ยงอ้วน มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ชี้แม่มีอิทธิพลช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมลูก

เด็กไทย กว่า 90% กินผักผลไม้ไม่พอ เสี่ยงอ้วน มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ชี้แม่มีอิทธิพลช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมลูก

น.ส.วรลักษณ์ คงหนู นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ  สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยด้านโภชนาการ ปี  2551-2552 ของสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงไทยร้อยละ 18.5 หรือ 4 ล้านกว่าคนจากทั้งหมดกว่า 21 ล้านคน ที่ทานผักผลไม้ตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 400-600 กรัมต่อวัน

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ กลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี พบว่ามีเพียงร้อยละ 6.8 หรือ 3 แสนคนเท่านั้น ที่ทานผักผลไม้ได้ตามเกณฑ์ ซึ่งการทานผักผลไม้ไม่พอเพียงนั้น จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการส่งเสริมการทานผักและผลไม้ ในระดับครอบครัว หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการกินผักผลไม้ในโรงเรียนและชุมชน เช่น การพัฒนาเมนูสุขภาพในมื้ออาหารโรงเรียนแล้ว โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมของแม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการกินผักผลไม้ของเด็ก

น.ส.สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า หากมีพฤติกรรมทานผักผลไม้อย่างพอเพียงตั้งแต่วัยเด็ก จะส่งผลให้ทำพฤติกรรมนี้สม่ำเสมอเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

ทั้งนี้ จากข้อมูลในต่างประเทศระบุว่า แม่เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อการกินผักและผลไม้ของเด็กเล็ก โดยแม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตนเอง  ควบคู่ไปกับการสร้างกำลังใจให้เด็ก ซึ่งได้ผลดีกว่าการใช้วิธีการบังคับ ลงโทษ หรือให้รางวัลหลอกล่อ สามารถทำได้ด้วยการจัดอาหารเย็นที่มีผักและอาหารว่างที่เป็นผลไม้ให้เด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งประโยชน์ของการทานผักผลไม้ จะทำให้ช่วยในการขับถ่าย ลดระดับไขมัน และคลอเรสเตอรอล และลดความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ โดยแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูกที่กินผักและผลไม้เป็นประจำ จะสร้างกลิ่นและรสชาติของนมแม่ ทำให้ทารกดื่มนมมากขึ้น

“หากประเทศไทยยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ จะต้องแบกรับภาระจากปัญหาสุขภาพในระยะยาว มีรายงานว่า ร้อยละ 19 ของโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร, ร้อยละ 31 ของโรคหัวใจขาดเลือด และร้อยละ 11 ของโรคหลอดเลือดสมอง มีสาเหตุมาจากการกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ แต่หากสามารถจัดการปัญหานี้ได้ ในแต่ละปีเราจะสามารถรักษาชีวิตคนบนโลกได้เกือบ 2.7 ล้านคน”น.ส.สิรินทร์ยากล่าว

นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้จัดการแผนงานเครือข่ายโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สสส. กล่าวว่า พฤติกรรมการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคอ้วนในคนไทยปัจจุบัน ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยภาวะโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประเทศต้องสูญเสียในการดูแลสุขภาพจากปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนถึง 5,580.8 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ

การจัดการปัญหาการกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ควรเน้นไปยังผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้องต่อเด็กโดยตรง เช่น แม่หรือผู้ปกครองที่ใกล้ชิด ร่วมกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น ให้รัฐบาลอุดหนุนราคาด้านการผลิตผักผลไม้ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงผักผลไม้ราคาถูกได้มากขึ้น หรือวางแผนกระจายผักผลไม้ที่ล้นตลาดให้ถึงผู้บริโภค นโยบายทางเกษตรกรรมที่สนับสนุนการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และการลดการเข้าถึงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในโรงเรียน