ปชช.-เอกชนหนุนข้อเสนอ5ข้อของกรีนพีซ
ภาคประชาชน- เอกชน หนุนข้อเสนอ 5 ข้อของกรีนพีซ วอนรัฐออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน จี้ยุติก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์ เหตุเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่
ภาคประชาชน- เอกชน หนุนข้อเสนอ 5 ข้อของกรีนพีซ วอนรัฐออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน จี้ยุติก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์ เหตุเพิ่มความขัดแย้งในพื้นที่
นายอนุสรณ์ สายนภา ตัวแทนจากเครือข่ายพลังงานภาคตะวันออก กล่าวในระหว่างการเข้าชมงาน “มหกรรมปฏิวัติพลังงาน ผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ณ โดมกู้วิกฤตโลกร้อน ลานราชมังคลากีฬา สถาน กล่าวว่า ในฐานะภาคประชาชนที่ได้ริเริ่มใช้พลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียน และเห็นด้วยกับข้อเสนอ 5 ข้อของกรีนพีซ เพื่อเปิดทางให้ประเทศไทยมีพลังงานที่สะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพื่อลดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่เป็นอย่างและมีประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เช่น นายเจริญ วัดอักษร แกนนำต่อต้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายนรินทร์ โพธิ์แดง อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เขาชะอางกลางทุ่ง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง จากการเป็นแกนนำต้านโรงโม่หินของนักการเมืองระดับชาติของจังหวัด เป็นต้น และยังไม่รู้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตอีกหรือไม่หากยังมีการผลักดันให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี)
“ดังนั้นผมจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากกว่านี้ เพราะหากดูจากการใช้ไฟฟ้าของแต่ละห้างสรรพสินค้า เชื่อว่ามีไฟฟ้าเท่าไหร่ก็ไม่พอ รัฐต้องออกกฎหมายถ้าใครใช้ไฟฟ้ามากควรผลิตไฟฟ้าเอง เพราะผมเองก็คงไม่ยอมให้ใครมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บ้านผม เพราะผมไม่ได้ใช้ไฟเหล่านั้น ดังนั้น ต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้มากขึ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวประดิษฐ์ใช้รถจักรยานไฟฟ้าขึ้นใช้เอง และอยาก อยากชาร์จแบตเตอรี่จากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือจาก พลังงานลม แต่ไม่มีเงินลงทุนและไม่มีความรู้ ทำได้แค่เตรียมกังหันรอไว้เท่านั้น ตอนนี้ใจไปแล้วว่าอยากจะใช้พลังงานสะอาด แต่ไม่มีหน่วยใดมาให้ความรู้ จึงอยากให้รัฐสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมากกว่านี้ เชื่อว่าประชาชนเอาด้วยแน่นอน เพราะทุกคนก็อยากให้มีอากาศบริสุทธ์อยู่กับเราตลอดไป
ด้านนายวิรัตน์ ตรีโชติ ตัวแทนกลุ่มศูนย์เกษตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมชุมชนคีรีวง ซึ่งเป็นชุมชนที่ริ่เริ่มการใช้กังหันน้ำในการผลิตไฟฟ้า ใน จ.นครศรีธรรมราช กล่าว เสริมว่า การใช้กังหันน้ำในจ.นครศรีธรรมราช เริ่มมีการขยายไปในหลายอำเภอ แต่ไม่ง่ายนักเพราะต้องใช้น้ำตกที่แรงเท่านั้นถึงจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตได้ประมาณ 300-1000 วัตต์ สามารถใช้ประโยชน์ในการเกตร แต่ต้องพัฒนาอีกมากเพราะระบบไฟยังไม่สม่ำเสมอ ผลจากการทำกังหันน้ำคือ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะยังสามารถนำน้ำไปใช้ได้เหมือนเดิม ซึ่งหากเทียบกับพลังงานปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ด้านหนึ่งเราอาจจะได้รับความสะดวกสบายแต่อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากสภาวะโลกร้อน
“อยากให้รัฐบาลออกกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เพื่อทำให้มีกลไกต่างๆ เอื้อให้ชาวบ้านผลิตพลังงานเองได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ แบบที่กลุ่มคีรีวง ทำอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาเราประสบปัญหาและต้องลองผิดลองถูกกันหลายครั้ง เพราะชาวบ้านขาดความรู้ดังนั้น ควรมีการให้ความรู้อย่างจริงจังที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมด้วย โดยรัฐและประชาชนสมทบเงินทำโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เชื่อว่าหากมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นจริงจะสามารถปลดล็อคอุปสรรคต่างๆได้” นายวิรัตน์ กล่าว
ด้านนายวิสูจน์ มาตรเลี่ยม วิศวะกร จาก บริษัทอีเนอร์คิว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กล่าวว่า การที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็นจริงได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยต้องมีกฎหมายพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการลงทุน เช่นให้เอกชนผลิตและขายให้รัฐและรัฐก็ขายให้ประชาชน เพราะพลังงานหมุนเวียนมีการลงทุนที่สูงมาก แต่ในระยะยาวถือว่าคุ้ม ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงมากเพราะสามารถผลิตได้ถึง 1000 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยเฉพาะในจ.ลพบุรี ซึ่งในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกผลิตได้แค่ 100 วัตต์ต่อตารางเมตรเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลควรวางแผนให้มีการใช้พลังงานสะอาดในอนาคคตไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ฯลฯ เพราะอีกไม่นานพลังงานที่ใช้กันอยู่ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก็คงจะหมดไป
“หากแต่ละบ้านจะลงทุนติดแผงโซลาเซลล์ผมคิดว่าคงประมาณหลังละ 250,000 บาท ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาคงไม่มีใครลงทุนเพราะกว่าจะคุ้มทุนคงหลายปี แต่ถ้ารัฐบาลช่วยสมทบทุนเพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ถือว่าเป็นเรื่องคุ้มค่า ผมสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์เต็มที่เพราะแสงแดดไม่ได้ซื้อ และข้อมูลทางวิชาการระบุชัดเจนว่าพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์แค่ 11 เมกะวัตต์ สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 30,000 ตัน โลกเราใกล้จะพังแล้ว เพราะโลกร้อนขึ้นมาก ดังนั้นเราต้องช่วยกันเพื่อลดสภาวะโลกร้อน” นายวิสูจน์ กล่าว
ทั้งนี้ กรีนพีซได้จัดมหกรรม “ปฏิวัติพลังงานผ่านกฎหมายพลังงานหมุนเวียน” ที่ลานราชมังคลากีฬาสถาน โดยเสนอหลักการ 5 ข้อเพื่อทำให้กฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่กระทรวงพลังงานกำลังยกร่างอยู่ในขณะนี้สามารถแก้วิกฤตพลังงานไทย โดย 1.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนเป็นอันดับแรก ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสามารถเข้าถึงระบบสายส่งก่อนพลังงานอื่นๆ 2. ทุกคน ทุกบ้าน ทุกหย่อมหญ้า สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้และขายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้และผลิตพลังงานหมุนเวียน 3.การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าต้องมีความโปร่งใสและราคาไฟฟ้าที่ ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีความเป็นธรรม 4.ต้องมีการจัดตั้งกองทุนและพัฒนาศักยภาพและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในทุก จังหวัด และเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการลงทุนและการดำเนินงานระบบพลังงานหมุนเวียนที่ สะอาดและยั่งยืน 5.ผู้ใช้ไฟฟ้ามีสิทธิเลือกใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และยั่งยืนแทนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพื่อสร้างจิตสาธารณะร่วมกัน ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม โดยกรีนพีซเริ่มการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทั้งทางออนไลน์และการ จัดกิจกรรมตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อระดมพลังประชาชนอย่างน้อย 55,555 คน เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมาย พลังงานหมุนเวียนฉบับแรกของไทยโดยเร็วที่สุด