posttoday

ห่วงเด็กอายุ1-5ขวบมีพัฒนาการภาษาช้า

04 สิงหาคม 2555

นักวิชาการโรงพยาบาลเผยเด็กไทยอายุ 1-5 ปีมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า แนะผู้ปกครองช่วยส่งเสริมการอ่าน-เขียน

นักวิชาการโรงพยาบาลเผยเด็กไทยอายุ 1-5 ปีมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า แนะผู้ปกครองช่วยส่งเสริมการอ่าน-เขียน

รศ.พญ.นิชรา  เรืองดารกานนท์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็ก  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดเผย งานวิชาการเรื่องส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาด้วยการอ่าน(Reading as a tool of intervention) พบว่าหากพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ปฐมวัยจะสามารถช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้

นอกจากนี้จากข้อมูลการสำรวจเด็กอายุ 1-5 ปีจำนวน 1,680 คนทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2553 โดยสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบเด็กมีพัฒนาการทางภาษาสงสัยล่าช้าคิดเป็นร้อยละ 18.9 ขณะที่มีพัฒนาการด้านอื่นๆล่าช้าน้อยกว่าร้อยละ 10 และผลการสำรวจในครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านี้พบปัญหาพัฒนาการด้านภาษาสงสัยล่าช้าสูงกว่าด้านอื่นๆมาโดยตลอด จำนวนดังกล่าวสูงกว่าข้อมูลที่มีรายงานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการศึกษาในสังคมที่พัฒนาแล้ว โดยพบพัฒนาการทางภาษาล่าช้าในเด็กปฐมวัยประมาณร้อยละ 5-8

“การส่งเสริมให้เด็กมีทักษะอ่านออกเขียนได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มวางรากฐานตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เด็กที่ผู้เลี้ยงดูอ่านหนังสือภาพหรือนิทานให้ฟังตั้งแต่ช่วงวัยทารก จะได้ยินคำพูดที่มีลักษณะไวยากรณ์ซับซ้อนกว่าภาษาที่ได้ยินในชีวิตประจำวัน เพราะมักมีการขยายความสิ่งที่อ่านกับเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจ ซึ่งจะเห็นอย่างชัดเจนในระยะที่เด็กเริ่มมีภาษาพูดมากขึ้น ที่อายุประมาณ 2 ปีเป็นต้นไป”รศ.พญ.นิชรากล่าว

ทั้งนี้การอ่านหนังสือนิทานให้เด็กทารกฟัง เป็นการใช้หนังสือเป็นสื่อกลางเพื่อเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็กได้เป็นอย่างดี ผู้เลี้ยงดูควรสังเกตความสนใจเด็กระหว่างการอ่านนิทานร่วมกัน และรอให้เด็กใช้เสียงหรือท่าทางเพื่อสื่อสารโต้ตอบ บางครั้งเด็กอาจทำเสียงคล้ายสงสัยเป็นคำถาม หรือใช้ภาษาเด็กที่ยังไม่เป็นคำในการสื่อสาร หากผู้เลี้ยงดูสังเกตพฤติกรรมเด็กอย่างต่อเนื่อง จะสามารถเข้าใจและคาดเดาได้อย่างถูกต้องมากขึ้นตามลำดับ และนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน