posttoday

ด่านเถื่อนต้องไม่มีประกาศิตบิ๊กนครบาล

01 สิงหาคม 2555

เป็นเพราะนโยบายของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. เจ้าของรหัส “น.1”

โดย กันติพิชญ์ ใจบุญ

เป็นเพราะนโยบายของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. เจ้าของรหัส “น.1” ประกาศชัดเจนระบุไม่ต้องการให้ตำรวจจราจรเมื่อกรุงไปตั้งด่านตรวจพร่ำเพรื่อ หรือแม้แต่การ “แอบ” ไปตั้งด่านเองเพื่อทำยอด เพราะทำให้ประชาชนทั่วไปเดือดร้อน ซ้ำยังทำให้การจราจรในเมืองกรุงต้องติดขัดเข้าไปอีก มุ่งเน้นให้ตำรวจออกใบเตือนเป็นหลักไว้ก่อน อย่าไปจับกุมมากมาย

คำสั่งดังกล่าวแน่นอนว่าก็ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปหายใจได้โล่งขึ้น ต้องยอมรับว่าตำรวจจราจรกับประชาชนผู้ขับขี่บนท้องถนน เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาช้านาน อีกฝ่ายก็ขยันด่าทอตำรวจที่จับกุมเหตุฝ่าฝืนกฎจราจร หรือบ้างก็ว่าไม่สมควรที่จะต้องเสียค่าปรับกับเรื่องเพียงเล็กน้อย ขณะที่ตำรวจก็จับตามกฎหมายในขอบเขต แต่บางจำพวกก็มีด่านมั่ว หรือรีดไถตามระบบตำรวจไทยที่รู้กันดีอยู่แล้ว

แต่ครั้นจะให้ตำรวจจราจรปล่อยปละละเลยเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และให้ออกใบเตือนตามความผิดต่างๆ ของกฎหมายก็เห็นจะใช่เรื่อง ว่าแล้วผู้ที่รับผิดชอบต้องสนองนโยบายของ น.1 อย่าง พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รอง ผบช.น. รับผิดชอบดูแลงานด้านจราจร ทั้งหมดของเมืองกรุง ก็ต้องมาประกาศชี้แจงให้สังคมรับทราบถึงมาตรการดังกล่าว ที่บางส่วนความผิดก็เตือนได้ แต่ความผิดบางอย่างก็ไม่น่าเตือน ต้องจับ ปรับ สถานเดียว

พล.ต.ต.วรศักดิ์ อธิบายถึงงานจราจรที่ต้องจับกุมผู้กระทำความผิดว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า งานจราจรที่ปฏิบัติอยู่แต่เดิมก็สนองนโยบาย แต่ที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เป็นกังวลคือ เรื่องการตั้งด่านถี่เกินไป หรือแม้แต่เรื่องตำรวจจราจรที่ไปดักซุ่มจับกุม ก็จะสั่งการไปแต่ละท้องที่ให้เข้มงวดในเรื่องนี้มากเช่นกัน ด่านเถื่อนต้องไม่มีเด็ดขาด

“ที่ผ่านมาก่อนจะตั้งด่านจับกุมผู้กระทำความผิดจราจรตามกฎแล้ว แต่ละท้องที่ต้องประชุมให้ชัดเจน จะตั้งที่ไหน ตั้งกี่โมงถึงกี่โมง ต้องให้ชัดเจน ที่สำคัญการตั้งด่านแต่ละครั้งต้องไม่ทำให้รถติด หากพบว่าการตั้งด่านนั้นๆ ทำให้รถติดขัด ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ควบคุมสั่งยกเลิกด่านทันที รวมถึงอย่าตั้งด่านในพื้นที่เดียวกันซ้ำซ้อนเด็ดขาด”

ด่านเถื่อนต้องไม่มีประกาศิตบิ๊กนครบาล

 

สำหรับการออกใบเตือน พล.ต.ต.วรศักดิ์ ย้ำชัดเจนว่า ที่ผ่านมาก็มีการเตือนอยู่เป็นประจำ หากแต่เป็นความผิดที่ไม่รุนแรงมากนัก เช่น ไม่เปิดไฟเลี้ยว หากพบเห็นก็เรียกมาเตือน หรือการขับรถผิดช่องทาง หรือผิดเลนส์ เป็นต้น แต่ความผิดที่จะเตือนเฉยๆ แล้วปล่อยไปเลยก็กระไรอยู่ ต้องจับ ต้องปรับ ให้สำนึกกันเสียบ้าง

ทั้งนี้ ได้สั่งไปแล้วถึงท้องที่ รวมถึงกองบังคับการตำรวจจราจร หรือ บก.จร. หากจะจับกุมหรือกวดขันการจราจรกลุ่มคนที่ทำผิดกฎ ให้เน้นไปที่ 12 ข้อหาหลัก ซึ่งเป็นข้อหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไป

รวมถึงสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย คือ 1.ข้อหาแข่งรถในทาง 2.ขับรถเร็ว 3.แซงในที่คับขัน 4.เมาแล้วขับ 5.ขับรถย้อนศร 6.ไม่สวมหมวกนิรภัย 7.จอดรถซ้อนคัน 8.ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน 9.มลพิษควันดำ 10.จอดรถในที่ห้ามจอด 11.การจอดรถบนทางเท้า และ 12.การขับรถบนทางเท้า

กลุ่มความผิดเหล่านี้จะให้ไปเตือนไม่ได้ ต้องจับกุม และที่สำคัญหากทำให้ปัญหาทั้ง 12 ข้อข้างต้นหมดไป สังคมก็ดีขึ้น ความปลอดภัยของประชาชนก็ตามมา

“ส่วนที่กังวลกันว่าเรื่องด่านมั่ว หรือการไปซุ่มไปแอบตั้งด่าน ทางผู้บังคับบัญชาจะตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตนเอง พร้อมกับกำชับไปยังท้องที่ถึงผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ให้ควบคุมลูกน้องให้ดี อย่าให้ไปทำผิด เช่น ดักซุ่ม หรือเรียกรับสินบนเอง หากตรวจสอบพบเจอ ไม่เอาไว้แน่ ผู้บังคับบัญชาต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ทั้งทางวินัยและอาญา” พล.ต.ต.วรศักดิ์ ย้ำอย่างหนักแน่น

ชัดเจนพอตัวสำหรับไขข้อข้องใจของตำรวจจราจรที่อยากจะส่งต่อไปยังผู้ขับขี่รถบนท้องถนน โดยเฉพาะกลุ่มที่ชอบทำผิดกฎจราจร ทั้งด้วยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม ความผิดที่เตือนไม่ได้ก็ระบุไว้ชัด หรือหากไม่รุนแรงมากนัก ก็อยู่ที่ดุลพินิจของตำรวจที่จะเตือนหรือจะปรับ

แต่ที่สำคัญ ไม่ว่าจะจับหรือจะเตือน เป้าหมายก็คือ ต้องการให้สังคมไทย โดยเฉพาะเมืองกรุงที่จราจรคับคั่ง มีความปลอดภัยบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น และต้องสร้าง “จิตสำนึก” ของการใช้รถใช้ถนนให้ผู้ขับขี่ตามไปด้วยเช่นกัน หากไม่อยากถูกจับ ถูกปรับ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนะครับ