posttoday

วสท.เตือนซ้ำ!แนะรัฐรื้อทีโออาร์น้ำ

30 กรกฎาคม 2555

"วิศวกรรมสถาน"ชี้รัฐบาลเดินหน้าโครงการน้ำลำบาก เหตุขัดหลักวิชาการ ชี้อาจฟ้องกันหนักเพราะขาดรายละเอียดเยอะ

"วิศวกรรมสถาน"ชี้รัฐบาลเดินหน้าโครงการน้ำลำบาก เหตุขัดหลักวิชาการ ชี้อาจฟ้องกันหนักเพราะขาดรายละเอียดเยอะ

วสท.เตือนซ้ำ!แนะรัฐรื้อทีโออาร์น้ำ

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ได้จัดงานเสวนาเพื่อวิพากษ์กรอบแนวคิด (conceptual plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยมีภาคีเครือข่าย 7 แห่ง ได้แก่ วสท. สภาวิศวกร สมาคมนักอุทกวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษา เครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโข่ง สภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เข้าร่วมแถลงข่าวในประเด็นดังกล่าว

นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวสท.กล่าวว่า โครงสร้างของทีโออาร์ฉบับนี้ขาดความเป็นวิชาการ โดยเฉพาะการใช้รูปแบบออกแบบ-ก่อสร้าง ทั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่อนุมัติให้โครงการขนาดใหญ่ดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถยืนยันความเหมาะสมของแบบร่าง และไม่สามารถควบคุมราคาค่าก่อสร้างที่สมเหตุสมผลได้

ทั้งนี้ วสท.และภาคีเครือข่ายจึงออกแถลงการณ์  5 ข้อ ได้แก่ 1.รัฐบาลไม่ควรกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเรื่องวงเงินมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่าสามหมื่นล้านบาท หรือต้องเคยออกแบบระบบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในระหว่างปี 2545-2555 แต่ควรจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นมากกว่า

2.เสนอให้ตั้งคณะกรรมการกำกับและดูแลโครงการซึ่งมีความรู้โดยตรงด้านวิศวกรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทำหน้าที่รวบรวมและกลั่นกรองข้อเสนอแนวคิดต่าง ๆ ตามทีโออาร์ให้เหมาะสม เพื่อหาฉันทามติ แลพกำหนดแผนการดำเนินงาน สร้างแผนการกระจายงาน และติดตามและกำกับการดำเนินงาน

3.เมื่อได้แผนแม่บทใหม่ จึงดำเนินการศึกษา ออกแบบและก่อสร้างต่อไป 4. ไม่ควรใช้มาตรการด้วยการใช้สิ่งก่อสร้างเป็นหลัก แต่ควรเน้นให้สอดคล้องกับธรรมชาติและวิถีชุมชน

5.ควรคำนึงถ้งปัญหาภัยแล้งควบคู่ไปด้วย และ 6.ควรจัดลำดับความสำคัญของโครงการใหม่ โดยโครงการที่มีการศึกษากายภาพเบื้องต้นทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชนแล้ว สามารถเริ่มต้นได้ทันที ส่วนโครงการที่ยังไม่มีความพร้อม ให้ศึกษความเหมาะสม รวมถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อน และ 8.รัฐบาลควรต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและติดตามจากภาคประชาชนควบคู่ไปทุกขั้นตอน

ขณะที่นายประเสริฐ โพธิ์วีเชียร กรรมการสมาคมนักอุทกวิทยาไทยกล่าวว่า ทีโออาร์ดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิของคนไทยอย่างชัดเจน โดยข้อจำกัดที่ว่าให้บริษัทขนาดใหญ่กว่า 3หมื่นล้านบาท หรือบริษัทย่อยที่ร่วมค้าต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 2,000ล้านบาท เป็นการจำกัดสิทธิ์นักวิชาการ หรือผู้ที่เคยทำงานในกรมชลประทานที่มีความคิดเห็นดี ๆ รวมถึงสมาชิกสมาคมนักอุทกวิทยาไทยที่มีกว่า 600-700 คนในการเสนอแนวคิดอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้การขีดรูปแบบทางน้ำหลาก ก็เป็นการขีดเส้นตามใจชอบ โดยไม่ได้มีการศึกษาชุมชน หรือสิ่งแวดล้อมใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงการกำหนดโครงการว่าจะใช้เวลาเพียงแค่ 3-5 ปียิ่งไปปะกันใหญ่ เพราะกรอบแนวคิดดังกล่าวมีแต่กรอบ รายละเอียดที่อ่อนไหว และไม่ได้ศึกษาไม่ได้ครอบคลุมอะไรเลย จึงอยากให้รัฐบาลกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ด้านนายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดกาบริษัท ทีมกรุ๊ป จำกัด ในฐานะสมาชิกวสท.กล่าวว่า โครงการภายใต้รูปแบบออกแบบและก่อสร้างนั้น หากเป็นรายละเอียดในเชิงวิชาการ ไม่สามารถทำได้เลย เนื่องจากเอกสารประกวดราคาต้องมีรายละเอียดครอบคลุม โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่ากว่า3แสนล้านบาท  จะต้องกำหนดรายละเอียด ส่วนประกอบอย่าละเอียด สำหรับอ้างอิงในสัญญาก่อสร้างได้ ซึ่งความกว้าง ยาวสูง ต้องมีในแบบด้วย หากมีรูปแบบเพียงแค่นี้ อาจจะมีปัญหาขัดแย้งกันภายหลังว่า หากเขื่อนเล็กเกินไป ใหญ่เกินไป ต้องมีค่าความแข็งแรงเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นปัญหาตามมาอีก

นอกจากนี้ แต่ละโครงการควรจะมีการออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้าง (Detail design criteria) อย่างละเอียด โดยเฉพาะปัจจัยด้านความปลอดภัย เช่น ความคงทนต่อแผ่นดินไหว แรงลม ในเอกสารก็ไม่มีการเสนอเพิ่มเติม แม้รัฐบาลจะอ้างไว้แล้วว่ามีการศึกษาความเหมาะสมตามขั้นตอน แต่แผนผังชุมชน หรือแผนที่ลุ่มน้ำ ก็เหมือนเป็นการตัดแปะจากโครงการอื่น ๆ ที่หน่วยงานรัฐเคยศึกษามาก่อนหน้านี้ ซึ่งหากเป็นไปในรูปแบบนี้ ไม่สามารถกำหนดราคากลางในแต่ละโครงการได้เลย และอาจเกิดการฟ้องร้องตามมาในภายหลัง จึงเห็นว่าควรกลับไปศึกษาใหม่ตามแนวทางที่วสท.เสนออีกครั้ง