posttoday

จับจังหวะรุกเชื้อ'มือเท้าปากไม่มีตุ่ม-ไม่มีไข้-ผู้ใหญ่ก็ป่วยได้

28 กรกฎาคม 2555

อาการตื่นตระหนกเข้าปกคลุมสังคมไทยอย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยไม่มีพื้นที่ใดรอดพ้นจังหวะการแพร่ระบาดของเชื้อ “มือ เท้า ปาก”

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

อาการตื่นตระหนกเข้าปกคลุมสังคมไทยอย่างเบ็ดเสร็จ ด้วยไม่มีพื้นที่ใดรอดพ้นจังหวะการแพร่ระบาดของเชื้อ “มือ เท้า ปาก”

รัฐบาลยืนยันเสียงแข็งว่า “เอาอยู่” กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำทับเชื่อมั่น “เพียงโรคตามฤดูกาลไม่อันตราย”

ทว่า ตัวเลขผู้ป่วยล่าสุดตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา คือ 14,452 คน ในจำนวนนี้อย่างน้อย 2 คน ที่ถูก “เอ็นเตโรไวรัส” คร่าชีวิตไปก่อนวัยอันควร

ล่าสุดตัวเลขทะลุเฉียด 2 หมื่นคนแล้ว!!!

หนึ่ง เด็กหญิงวัย 2 ขวบ 8 เดือน เสียชีวิตระหว่างรักษาตัวยังโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพมหานคร ปรากฏสัญญาณอันตรายก่อนจะสิ้นลมเพียง 2 วัน

จับจังหวะรุกเชื้อ'มือเท้าปากไม่มีตุ่ม-ไม่มีไข้-ผู้ใหญ่ก็ป่วยได้

 

อีกหนึ่ง เด็กชาวกัมพูชาวัย 2 ขวบ 6 เดือน ซึ่งมีอาการไข้ อาเจียน หอบ เหนื่อย และซีด กระทั่งเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา สธ.ยอมรับว่า “มือ เท้า ปาก” คือสาเหตุแห่งความตาย

อุบัติการณ์เหล่านี้ยังผลให้สังคมตกอยู่ในห้วงแห่งความสับสน ความคลาดเคลื่อนของข้อมูลและรายละเอียดเชิงลึกเกินระดับที่เหมาะสม ยิ่งตอกให้สังคมจมลงสู่ความประหวั่นพรั่นพรึง

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ...หากโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น แล้วสังคมไทยรู้จักโรค “มือ เท้า ปาก”ตามลักษณะที่เป็นจริงหรือไม่...มากน้อยแค่ไหน ทำไมแตกตื่นกันทั้งเมือง?

ประธานคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและระบาดวิทยา นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ อธิบายว่า โรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัส2 กลุ่มใหญ่ คือ “เอ็นเตโรไวรัส” ซึ่งมีความรุนแรง เนื่องจากเชื้อจะส่งผลต่อสมองและกล้ามเนื้อหัวใจ ขณะที่เชื้ออีกกลุ่ม คือ “ค็อกซ์แซกกีไวรัส” จะมีอาการเบากว่า

สำหรับไวรัสทั้งสองกลุ่ม จะทำให้เกิดโรคมือเท้า ปากเหมือนกัน แต่ลักษณะโรคอาจแตกต่างไป ส่วนสายพันธุ์ต่างๆ ที่พูดถึงกัน เช่น บี5 ซี4 เป็นเรื่องของนักระบาดวิทยาที่ใช้สอบสวนโรคเท่านั้น ไม่ได้มีความหมายเรื่องความรุนแรงจึงไม่ควรขยายความต่อเพื่อป้องกันความสับสน

“อยากให้เลิกพูดถึงสายพันธุ์บี ซี หรืออะไร เนื่องจากเป็นเรื่องเฉพาะของนักระบาดวิทยา แม้แต่แพทย์เองก็มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจ”ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ระบุ

คุณหมอประเสริฐ บอกอีกว่า ไม่ว่าผู้ป่วยจะติดเชื้อในกลุ่มใดก็มีโอกาสที่เชื้อไม่แสดงอาการทางร่างกาย เช่น การเกิดตุ่มใสได้ ตรงนี้ถือเป็นธรรมชาติของโรค ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ และความรุนแรงของโรคจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล บุคคลที่ติดเชื้อในกลุ่มเดียวกันอาจมีความรุนแรงที่แตกต่างกันได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการระบาดของโรคมือเท้าปากจากเชื้อทั้งสองกลุ่ม แตกต่างกันเพียงสัดส่วนว่าปีใดเชื้อกลุ่มใดระบาดมากกว่าเท่านั้น

เป็นไปในทิศทางเดียวกับหนึ่งในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑาผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมองคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยืนยันว่าลักษณะของสายพันธุ์ อาทิ ซี2 ซี4บี5 หรืออะไรก็ตาม อาจไม่เกี่ยวข้องชัดเจนจนถึงขั้นระบุได้ว่าตัวใดที่ทำให้เชื้อรุนแรง ฉะนั้นอยากให้เข้าใจว่าสายพันธุ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดโรคว่าจะรุนแรงหรือไม่

นพ.ธีระวัฒน์ ให้ภาพโดยละเอียดต่อไปว่า สายพันธุ์หรือครอบครัวของเชื้อเอ็นเตโรไวรัสที่พบได้ในมนุษย์มีมากกว่า 90 ตระกูล แต่ที่ขึ้นชื่อ 3 ตัว คือ ไวรัสโปริโอ ไวรัสเอ็นเตโร 70 และ 71 เนื่องจากเคยระบาดใหญ่มาแล้ว

จับจังหวะรุกเชื้อ'มือเท้าปากไม่มีตุ่ม-ไม่มีไข้-ผู้ใหญ่ก็ป่วยได้

 

เชื้อไวรัสทั้ง 3 ตัวนี้จะแพร่ระบาดเป็นระบบระเบียบ คือ เมื่อเข้าสู่สมองได้แล้วจะแพร่ไปตามแกนเส้นประสาท กระจายไปเรื่อยๆ โดยการโจมตีสมองนั้นอาจสร้างความเสียหายเพียงบางส่วน ไม่ได้ทำลายเนื้อสมองทั้งหมด ดังนั้นผู้ป่วยบางรายจึงไม่ถึงกับโคม่า

“เชื้อจะทำลายก้านสมองส่วนบนซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอวัยวะภายใน เช่น ปอด กล้ามเนื้อหัวใจ ดังนั้นแม้ว่าคนไข้จะมีสติดี แต่มีโอกาสเกิดอาการน้ำท่วมปอด หรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติได้ โดยเชื้อไวรัสจะซ่องสุมกำลังอยู่สักระยะหนึ่ง จากนั้นจึงแพร่กระจายตัวทวีคูณขึ้น แล้วก็เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ” ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ระบุ

สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก คนส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อนว่าผู้ป่วยทุกรายต้องมีตุ่มที่มือ เท้า ปาก หรือเพดานปาก ทั้งๆ ที่การเกิดอาการรุนแรงคือภาวะทางสมองและกล้ามเนื้อหัวใจ

“มันไม่จำเป็นต้องมีตุ่มเหล่านี้ ที่ประเทศจีนพบผู้ป่วยประมาณ 30% ที่ไม่มีตุ่ม แต่เกิดโรคในระดับที่รุนแรง” นพ.ธีระวัฒน์ เทียบเคียง

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจว่าผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปากจะต้องมีไข้เสมอไป นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า ไม่สามารถสรุปโรคได้จากอาการไข้เพียงอย่างเดียว มันต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน คณะทำงานจึงตั้งนิยามเบื้องต้นสำหรับสำรวจอาการไว้ว่า “มีไข้ มีภาวะหายใจที่ไม่ปกติ (ปอด) มีอาการเหนื่อย (หัวใจ) และต้องมีอาการทางสมอง”

“แน่นอนว่าอาการทางสมองดูยาก แต่อาจเห็นสัญญาณจากตาเหล่ ตาเข ตากระตุก หรือขากระตุก แต่ก็ต้องพิจารณาลงลึกอีก เพราะอาการขากระตุกนั้น แม้จะเป็นลักษณะสำคัญของเชื้อกลุ่มเอ็นเตโร แต่ยังมีไวรัสอีกหลายชนิดที่สามารถเข้าไปทำลายก้านสมองส่วนล่าง ทำให้ขากระตุกได้เช่นกัน” คุณหมอรายนี้อธิบาย

สำหรับการรักษา เชื้อเอ็นเตโรไวรัสยังไม่มียาเฉพาะ จึงต้องให้การดูแลตามอาการด้วยวิธีประคับประคอง หากผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตก็จะฟื้นตัวได้เอง เนื่องจากเกิดภูมิคุ้มกันและสามารถทำลายไวรัสเหล่านั้นไปได้ อย่างไรก็ดี ยังขึ้นอยู่กับการต่อสู้ระหว่างเชื้อกับภูมิคุ้มกันด้วยว่าจะทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆเสียหายมากน้อยเพียงใด

ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง ยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อกรณีชายวัย 16 ปีที่เสียชีวิต ว่าจากนี้จะต้องเฝ้าระวังโรคในผู้ใหญ่ด้วย เนื่องจากคนไทยมีโอกาสได้รับเชื้อเอ็นเตโรกลับบ้านตั้งแต่หลังคลอด แต่ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ใช่ว่าเมื่ออายุมากแล้วจะไม่มีโอกาสติดโรคมือ เท้า ปาก

“ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลจุฬาฯ ตรวจคนไข้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 930 คน พบคนไข้ 38 คน ที่ติดเชื้อเอ็นเตโรไวรัสในจำนวนนี้ 34 คนเป็นเด็ก ส่วนอีก 4 คนเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบว่า 30-40% ของผู้ปกครองที่ติดเชื้อจากบุตรหลาน” คุณหมอธีระวัฒน์ ระบุ

สอดคล้องกับ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) หนึ่งในคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ย้ำเตือนว่า แม้ว่าทางการแพทย์จะมีหลักฐานว่าโรคมือ เท้า ปากเกิดในเด็กเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่จะติดเชื้อไม่ได้ แต่สาเหตุที่เกิดกับผู้ใหญ่ได้น้อยและความรุนแรงต่ำ เพราะมีภูมิต้านทานมากกว่า

“ทางการแพทย์ไม่สามารถสรุปได้ว่าความรุนแรงในรายผู้ใหญ่เกิดจากปัจจัยอะไร เพราะพบว่าบางครั้งคนบ้านเดียวกัน ได้รับเชื้อเหมือนกัน คนหนึ่งป่วยหนัก อีกคนไม่ป่วยก็เกิดขึ้นได้” นพ.ทวี กล่าว