posttoday

ตามคดี “แท็กซี่แพะ” เพราะตำรวจหรือผู้เสียหาย

25 กรกฎาคม 2555

ข่าวที่ครึกโครมในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวความซวยของแท็กซี่หนุ่มวัย 35 ปี “ชรินทร์ ช้ำเกตุ”

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ


ข่าวที่ครึกโครมในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวความซวยของแท็กซี่หนุ่มวัย 35 ปี “ชรินทร์ ช้ำเกตุ” ต้องกลายเป็นแพะในคดีแท็กซี่ปล้นชิงทรัพย์ผู้โดยสาร เมื่อเขาเดินทางมาที่ สน.ลาดกระบัง ตามหมายเรียกของตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า “ผมไม่ใช่เป็นผู้ก่อเหตุ” ถึงแม้ว่าผู้เสียหายที่ยืนรอชี้ตัวอยู่ 5 คนเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา จะยืนยันได้ชัดเจนว่า “เขา” คือคนที่ก่อเหตุแน่นอน กอปรกับหลักฐานของเหล่าผู้เสียหาย เอ่ยปากเป็นเสียงเดียวกันว่า เลขทะเบียนคนก่อเหตุ คือ “มจ621” ตรงกับของชรินทร์ทันที และเป็นอันจบต้องถูกส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย

คดีมาพลิกทันที เมื่อในย่านลาดกระบังที่เคยก่อเหตุแท็กซี่ปล้นผู้โดยสาร กลับมาเกิดเหตุอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ตำรวจก็จับกุมไปชรินทร์ไปแล้ว คดีน่าจะบางลงไปบ้าง แต่ไหงกลับมามีเหตุอีกครั้ง ว่าแล้วชุดสืบสวนของ สน.ลาดกระบัง พร้อมด้วยทีมสืบสวนของบก.น.3 ก็ออกล่าด้วยใจและความรู้สึกที่ตงิดกับเหตุการณ์ที่จับ “ชรินทร์” ไป หรือจะเป็นการจับผิดตัวกันแน่!!!

แล้วก็ถึงบางอ้อ เมื่อตำรวจไปรวบตัวชินภัทร สิริโสภาโชติกุล อายุ 36 โชเฟอร์แท็กซี่ตัวจริง ก่อเหตุจริง พร้อมกับพาไปค้นห้องพักของเจ้าตัว ตำรวจชุดจับกุมก็แทบจะลมจับ เมื่อไปเจอสติกเกอร์ของลวง ระบุตัวอักษร “มจ621” ซึ่งเป็นทะเบียนรถแท็กซี่ของชรินทร์ ผู้ต้องหาแพะ สุดท้ายด้วยความจำนนต่อหลักฐานชินภัทรก็รับสารภาพว่า เป็นคนก่อเหตุปล้นผู้โดยสารจริง ทำแล้ว 16 คน บางคนยังลงมือข่มขืนอีกด้วย

ที่น่าสนใจชินภัทรใช้สติกเกอร์ลวงที่แอบไปตัดสั่งทำไว้ คือ ทะเบียนที่ติดไว้ภายในห้องโดยสาร ทั้งที่รถแท็กซี่ของตนเอง คือ “มจ9261” แต่นำสติกเกอร์ลวงไปติดไว้ภายในรถ คือ “มจ621” ซึ่งเป็นทะเบียนของชรินทร์ ครานี้ตำรวจก็ต้องรีบเร่งทำเรื่องประสานไปยังศาล และเจ้าหน้าที่เรือนจำมีนบุรี ให้รีบปล่อยตัวชรินทร์ทันที เกือบถูกขังยาวไปเสียแล้ว

ประเด็นที่สำคัญ คือ “แพะ” รายนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุไฉนจึงเกิดความผิดพลาด กระทั่งส่งให้ชรินทร์ คนขับแท็กซี่ทะเบียน มจ621 กทม. คุณพ่อลูกสองและยังต้องเลี้ยงดูแม่ตัวเองอีก เข้าไปอยู่ในคุกนานถึง 9 วันก่อนได้รับการปล่อยตัว ความผิดนี้ตกอยู่ที่ตำรวจ หรือเจ้าทุกข์ที่ชี้ตัวคนร้ายผิดคนกันแน่ ถึงแม้ว่าชรินทร์จะไม่ติดใจเอาความ ถือว่าเคราะห์ร้ายคราวซวยมาเยือนเอง และยินดีพอใจจะรับเงินเยียวยาจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำนวน 2 หมื่นบาท

ตามคดี “แท็กซี่แพะ” เพราะตำรวจหรือผู้เสียหาย

พล.ต.ต.พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านสืบสวน ยอมรับว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่จะให้ทำอย่างไร ในเมื่อเจ้าทุกข์ก็พร้อมใจกันชี้ตัวผู้ต้องหาตรงกันทั้งหมด หากตำรวจไม่จับกุมดำเนินคดีก็ถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่

“ผมไม่อยากให้สังคมต้องมาโทษตำรวจกับเรื่องนี้ ต้องเห็นใจตำรวจด้วย เพราะตำรวจก็ทำงานตามหน้าที่อย่างถูกต้องทุกอย่างแล้ว แต่เมื่อรู้ว่าผิดพลาด จากเหตุอะไรก็แล้วแต่ เราก็รีบเร่งแก้ไขให้ถูกต้องทันที พอจับตัวจริงได้แล้ว สารภาพชัดเจนทุกอย่าง เราก็มาประมวลกันใหม่ก็รู้ว่ามีความผิดพลาด จึงเร่งประสานไปยังเรือนจำให้ปล่อยตัวชรินทร์ รวมถึงทำสำนวนส่งต่อไปยังอัยการให้สั่งไม่ฟ้องชรินทร์” พล.ต.ต.พิสิฏฐ์ กล่าว

รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน บก.น.3 นายหนึ่ง เล่าถึงการสืบสวนจับกุม “คนร้ายตัวจริง” ที่ทำให้ปลดปล่อยอิสรภาพให้กับชรินทร์อีกครั้งว่า “ยอมรับว่าก็สับสนกับการดำเนินคดีกับชรินทร์ แท็กซี่ที่ไม่ได้ก่อเหตุ ตำรวจก็สงสัยกันอยู่แล้วว่าทำไมชรินทร์ซึ่งเดินทางมาที่ สน.เอง ตามที่ตำรวจตามตัวไป ไม่ได้หลบหนีอะไร และยังบอกอีกว่าไม่ได้ทำ ที่มาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ผู้เสียหายชี้ตัวตรงกันหมดทั้ง 5 คนที่อยู่โรงพัก และบอกว่านี่แหล่ะคนร้าย ชรินทร์ก็ไม่โต้แย้งอะไร กลับปล่อยให้ตำรวจดำเนินคดี”

นั่นยิ่งทำให้สังคมสงสัยเพิ่มเติมอีกว่า ผู้เสียหายที่อ้างว่าถูกข่มขืนนั้นเหตุใดจึงไม่ออกมาขอโทษชรินทร์ ทั้งๆ ที่ชรินทร์ไม่ได้ข่มขืน แต่กลับต้องถูกคุมขัง ยิ่งไปกว่านั้นคืออาจมีบางคนไม่ใช่ผู้เสียหายด้วยซ้ำไป

“แต่มาเกิดเหตุอีกครั้งในพื้นที่เดิม ชุดสืบสวนก็เอะใจแต่แรกแล้วว่า ชรินทร์ไม่น่าจะใช่ผู้ต้องหาตัวจริง เพราะด้วยพฤติกรรมต่างๆ มันชี้ไปทางเดียวกันว่าไม่น่าจะใช่แน่ และในคืนวันที่ 10 ก.ค.เกิดเหตุขึ้นอีก มีผู้เสียหายมาแจ้งความด้วย เราก็สืบจนจับกุมได้ แต่ที่รู้ว่าจับผิดตัวแน่ คือไปเห็นสติกเกอร์ ทะเบียนแท็กซี่ ซึ่งเป็นของชรินทร์ เราก็ถึงบางอ้อ รู้แล้วว่าพลาด แต่พลาดเพราะหน้าที่จริงๆ ” นายตำรวจสืบสวนคนเดิม เล่า

ถึงแม้ว่าตำรวจเองจะไม่อยากให้สังคมต้องมาโทษตำรวจ แต่ต้องยอมรับว่า สังคมได้ประณามกับพฤติกรรมดังกล่าวไปแล้ว แต่ลืมไปหรือไม่ว่า ตำรวจก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่ผู้เสียหายมาร้องทุกข์พร้อมกับชี้ตัวไว้ อย่างที่รองพิสิฏฐ์ว่าไว้ “หากไม่ทำก็ผิดละเลย แต่ทำผิดไปแล้วก็เร่งแก้ไขทันที” ส่วนเจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายที่ชี้ตัว จะว่าไปแล้วก็คงจะผิดเหมือนกันที่อาจจะใช้ความที่ว่า “ไม่รู้” ไปชี้ตัวผิดคน ถึงสุดท้ายการแก้ไขจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือจะให้เหตุการณ์นี้เป็นครูอีกครั้งหรือไม่ แต่คนที่ “ซวย” ไม่จบสิ้น คงหนีไม่พ้น “แพะ” อย่างแน่นอน