posttoday

ก.อุตฯเตรียมพา เต็ง เส่งทัวร์ท่าเรือแหลมฉบัง

20 กรกฎาคม 2555

อุตฯ เตรียมรับเต็ง เส่ง พาชมท่าเรือแหลมฉบังจุดเชื่อมต่อการขนส่งกับนิคมฯทวาย คาดช่วยกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

อุตฯ เตรียมรับเต็ง เส่ง พาชมท่าเรือแหลมฉบังจุดเชื่อมต่อการขนส่งกับนิคมฯทวาย คาดช่วยกระชับความสัมพันธ์ และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 22-24 ก.ค. 2555 นายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า จะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยกระทรวงต่างประเทศได้เชิญประธานาธิบดีพม่าเข้าเยี่ยมชมท่าเรือแหลมฉบัง และศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 จังหวัดชลบุรี ในวันที่ 22 ก.ค. 2555 ซึ่งร.ม.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ให้การต้อนรับและพาขึ้นหอบังคับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเพื่อดูพื้นที่รอบท่าเรือแหลมฉบัง

ทั้งนี้ การเดินทางเยี่ยมท่าเรือแหลมฉบัง กระทรวงการต่างประเทศได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐ 3 หน่วย บรรยายสรุปให้กับประธานาธิบดีพม่า คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) บรรยายภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย และการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคโดยเฉพาะการเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทวายกับพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่ง กนอ.จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่อุตสาหกรรมอีสต์เทิร์น ซีบอร์ด และนางอรรชกา  สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะบรรยายเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย

นางหิรัญญา  สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน บีโอไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีนักธุรกิจพม่าเข้ามาลงทุนในไทย  แต่มีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในพม่ามาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ  โดยตั้งแต่ปี 2531-2555 จีนเป็นนักธุรกิจต่างประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่ามากที่สุด มูลค่าการลงทุน 1.39 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาเป็นนักธุรกิจไทย 9,568 ล้านเหรียญสหรัฐ และนักธุรกิจฮ่องกง 6,300 ล้านเหรียญสหรัฐ  ซึ่งเมื่อพม่าเปิดประเทศแล้วคาดว่าจะมีนักธุรกิจไทยไปลงทุนในพม่ามากขึ้น  โดยมีหลายธุรกิจที่นักธุรกิจไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน เช่น เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า โรงแรม ท่องเที่ยว การแปรรูปสินค้าเกษตร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐและเอกชนหลายแห่งพานักธุรกิจไทยไปดูลู่ทางการลงทุนในพม่า  ซึ่งบีโอไออยู่ระหว่างของบประมาณปี 2556 จ้างที่ปรึกษาประจำพม่า เพื่อให้คำปรึกษานักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนในพม่าเกี่ยวกับกฎหมายและช่วยประสานงานให้กับนักธุรกิจไทย

สำหรับการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ของประธานาธิบดีพม่า ถือเป็นสัญญาณที่ดี สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสร้างเชื่อมั่นให้นักธุรกิจไทยที่จะเข้าไปลงทุนในพม่า   โดยเชื่อว่าการเดินทางมาท่าเรือแหลมฉบังครั้งนี้จะได้เห็นการบริหารจัดการท่าเรือ การขนส่งและระบบโลจิสติกส์  ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังเป็นจุดที่จะเชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่า  และคงได้เห็นว่าจุดที่จะเชื่อมต่อกับทวายเป็นอย่างไร