posttoday

พม.เตือนสื่อระวังการนำเสนอข่าวยายฆ่าหลาน

18 กรกฎาคม 2555

พม.เตือนสื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอข่าวยายฆ่าหลาน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 มาตรา 9

พม.เตือนสื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอข่าวยายฆ่าหลาน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 มาตรา 9
 
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่งหนังสือแจ้งต่อสื่อมวลชนเพื่อทราบ ระบุว่า ด้วยได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว กรณียายฆาตกรรมหลาน เป็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัวขึ้นซึ่งสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวกันอย่างแพร่หลาย 
 
เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 มาตรา 9 ได้กำหนดขอบเขตเพื่อประกอบการนำเสนอของสื่อที่อาจมีผลกระทบและเพื่อให้ความ คุ้มครองทั้งแก่ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ในครอบครัว เมื่อมีการแจ้งตามมาตรา 5 หรือมีการร้องทุกข์ตามมาตรา 6 กล่าวคือ 
 
มาตรา 9 บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีการแจ้งตามมาตรา 5 หรือมีการร้องทุกข์ตามมาตรา 6 แล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดลงพิมพ์โฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีใดๆ ซึ่งภาพ เรื่องราว หรือข้อมูลใดๆ อันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวในคดีตาม พ.ร.บ.นี้
 
ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติในวรรค 1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ขณะที่ มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพ.ร.บ.นี้
 
การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรค 1 เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง มาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 5 อาจกระทำโดยวาจา เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด
 
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือได้รับแจ้งตามมาตรา 5 แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ที่เกิดเหตุเพื่อสอบถามผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานที่นั้นเกี่ยวกับการกระทำที่ได้รับแจ้ง
 
รวมทั้งให้มีอำนาจจัดให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ และขอรับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวประสงค์จะดำเนินคดี ให้จัดให้ผู้นั้นร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าผู้นั้นไม่อยู่ในวิสัยหรือมีโอกาสที่จะร้องทุกข์ได้ด้วยตนเองให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ร้องทุกข์แทนได้
 
หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามวรรค  2 ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
 
ในการนี้ กระทรวง พม.ขอความร่วมมือในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ต่อไป