posttoday

นักวิทย์ลุ้นอนุภาคฮิกส์ไขปริศนาเอกภพ

14 กรกฎาคม 2555

จุฬาลงกรณ์-เซิร์น MOU ร่วมมือด้านการวิจัย ลุ้นค้นพบ“อนุภาคฮิกส์” ไขปริศนาที่มาเอกภพ

จุฬาลงกรณ์-เซิร์น MOU ร่วมมือด้านการวิจัย  ลุ้นค้นพบ“อนุภาคฮิกส์” ไขปริศนาที่มาเอกภพ

วันที่ 14 ก.ค.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ CMS หน่วยงานภายใต้องค์กรแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ (เซิร์น) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยร่วมกัน พร้อมจัดงานเสวนา “การค้นพบอนุภาคฮิกส์จากนักวิจัยเซิร์น” ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯ รับการตื่นตัวของวงการวิทยาศาสตร์โลก หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา องค์กรเซิร์นได้ประกาศการค้นพบอนุภาคชนิดใหม่ที่มีมวลประมาณ 126 จิกะอิเล็กตรอนโวลต์ หรือ 134 เท่าของมวลอนุภาคโปรตรอน มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นอนุภาคที่นักฟิสิกส์ค้นหามายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ ที่เรียกว่า “อนุภาคฮิกส์”         

นายบุรินทร์ อัศวพิภพ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการอธิบายอันตรกริยาระหว่างอนุภาค คือ แบบจำลองมาตรฐาน (standard Model) ซึ่งแบบจำลองนี้ได้ทำนายถึงการมีอยู่ของอนุภาคฮิกส์ ที่นักฟิสิกส์ได้เพียรเสาะหาอนุภาคนี้มาเกือบครึ่งศตวรรษ หากมีการค้นพบและแสดงได้ว่าเป็นกลไกฮิกส์จริง จะทำให้วงการวิทยาศาสตร์ขยับเข้าใกล้สู่การไขปริศนาที่มาของเอกภพมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ข้อสงสัยที่ว่าโลกและเอกภพสร้างขึ้นจากอะไร มีที่มาจากไหน และสิ่งเหล่านี้มารวมตัวกันได้อย่างไร เพราะปัจจุบันสามารถอธิบายที่มาของเอกภพได้เพียง 4% เท่านั้น อีก 96% ยังเป็นที่สงสัยและรอการพิสูจน์

“มนุษย์เรามีมวลประกอบด้วยอนุภาค แต่คำถาม คือ อนุภาคเหล่านี้ก็มีมวลเช่นเดียวกัน แต่มวลมาจากไหน ปีเตอร์ ฮิกส์และนักฟิสิกส์จึงพยายามอธิบายผ่านกลไกของฮิกส์ค้นหาว่ามวลมีที่มามาอย่างไร หากสามารถอธิบายได้จะทำให้เราเชื่อมโยงไปพิสูจน์ได้ว่า โลก และเอกภพ มีที่มาอย่างไร จากที่รู้เพียงว่าโลกประกอบด้วยควาร์ก อิเล็กตรอน และมาจากบิ๊กแบงก่อนจะวิวัฒน์มาจนเป็นเอกภพอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้” นายบุรินทร์ กล่าว

นายบุรินทร์ กล่าวด้วยว่า คาดการณ์ไม่ได้ว่านานแค่ไหนจึงจะค้นหาที่มาของเอกภพได้ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ การศึกษาฟิสิกส์อนุภาคจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่ได้ระหว่างศึกษากลไกฮิกส์ เช่น สมัยก่อนการใช้แสงเลเซอร์ และเลเซอร์พอยเตอร์ก็มีที่มาจากการการศึกษาฟิสิกส์อนุภาค และอย่าลืมว่าการวิจัยขององค์กรเซิร์นเองเป็นที่มาให้เกิดเทคโนโลยีเวิลด์ ไวด์ เว็บ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

อีกทั้งการที่นักฟิสิกส์ได้ติดตั้งเครื่องเร่งความเร็วอนุภาค ระบบแอลเอชซี เพื่อทดลองหาจุดกำเนิดของจักรวาลซึ่งเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการนี้ ทำให้เกิดเทคโนโลยีสุญญากาศ ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ฟิสิกส์อนุภาคไปปรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม และวงการแพทย์ เช่น เครื่องทีซี สแกน เป็นต้น