posttoday

รู้เท่าทันโลกดิจิตอล บริโภคสื่ออย่างมีสติ

12 กรกฎาคม 2555

ถึงเวลาที่ผู้บริโภคสื่อจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับข่าวสารเป็นผู้ตรวจสอบข่าวสารอย่างจริงจังเสียที

โดย...วิรัชชัย พงษ์เกาะ

ถึงเวลาที่ผู้บริโภคสื่อจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับข่าวสารเป็นผู้ตรวจสอบข่าวสารอย่างจริงจังเสียที ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากปัจจุบันการสื่อสารเข้าสู่ยุคที่ผู้คนมีโอกาสรับส่งข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ได้โดยไม่ต้องผ่านสื่อมวลชนโดยตรง ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงสื่อได้เอง และบางครั้งก็ปักใจเชื่อด้วยว่าทุกเรื่องที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ คือ ข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้

เพราะเหตุการณ์ที่ปรากฏผ่านอินเทอร์เน็ตบางอย่างก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป เป็นห่วงก็แต่ผู้อ่านที่จะต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูงและมีสุขภาพจิตที่ดีพอที่จะไม่ปวดขมับไปกับคลิปข่าวเด็กนักเรียนกระทำอนาจารกลางที่สาธารณะ ข่าวโจรปล้นจี้อาละวาดฆ่าปาดคอ ข่าวอุบัติเหตุรถเมล์ชนขอบทางด่วน หรือแม้กระทั่งข่าวฆ่าตัวตายที่เต็มหมดไล่ตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาด เด็กนักเรียน คุณครู ผู้จัดการธนาคาร คุณหมอ ไปถึงจนนายดาบตำรวจ

ในช่วงไม่ถึง 1 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีคลิปทางเว็บไซต์ยูทูบที่ไม่ชวนจรรโลงใจผู้อ่าน เผยแพร่และแชร์โดยผู้ใช้สื่อออนไลน์หลายอัน อาทิ คลิปนักเรียนมั่วเซ็กซ์กลางโรงหนังราชบุรี คลิปเนตรนารีเปิดหน้าอกให้เพื่อนชายล่วงละเมิดโดยยินยอม ท่ามกลางกระแสคลิกแชร์และคอมเมนต์ให้ทั่วเมืองว่า สังคมเมืองไทยเสื่อมถอยถึงเพียงนี้แล้วหรือ?

ความเสื่อมถอยทางศีลธรรมของคนในสังคมถูกรายงานซ้ำๆ บ่อยครั้ง เช่น กรณีที่ครูพลศึกษาโกรธจัด เตะนักเรียนชั้น ม.2 จนแขนเกือบหัก เพียงเพราะเพิ่งถูกผู้อำนวยการโรงเรียนตำหนิว่าหยุดงานโดยไม่ลาล่วงหน้า อีกกรณีเด็กนักเรียนจับคู่สวิงกิงภายในโรงแรมม่านรูดกลางเมืองขนมหม้อแกง โดยเด็กมีการนัดแนะล่วงหน้าและจะกระทำเป็นประจำในช่วงเช้าก่อนไปโรงเรียน

ส่วนกรณีคลิป “กะเทยโหดเตะเด็กผู้หญิง” เราจะเห็นข่าวทำนองชู้สาวในกลุ่มเด็กนักเรียนแชร์ในโลกออนไลน์บ่อยจนเป็นค่านิยมไปเสียแล้ว เรียกได้ว่ามีกรณีทะเลาะวิวาทกันที่ไหน เป็นต้องมีคลิปเผยแพร่ผ่านยูทูบ ราวกับว่าคู่ไหนตั้งท่าทะเลาะกันปุ๊บ ต้องมีคนตั้งกล้องอัดคลิปปั๊บ แล้วแชร์ให้โลกออนไลน์รับรู้ด้วยเสมอ

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความนิยมเผยแพร่คลิปเซ็กซ์ในกลุ่มวัยรุ่นมีสาเหตุจากทุกคนพกโทรศัพท์มีกล้อง รวมถึงใช้ถ่ายรูป อัดคลิป และอัพโหลดวิดีโอได้อย่างรวดเร็วโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางครั้งทำเพื่อต้องการกลั่นแกล้งเพื่อน แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่ส่งเผยแพร่ลงเว็บไซต์ หากต้องการแก้ไขภายหลังก็ไม่สามารถลบออกได้อย่างถาวร

บ่อยครั้งที่การรายงานข่าวของสื่อดันเข้าทำนองชี้โพรงให้กระรอกโดยไม่ได้ตั้งใจ แปลกแต่จริงที่ผู้อ่านบางส่วนกลับเลือกจดจำไปปฏิบัติ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคม เด็กอาจคิดว่าไปมีเซ็กซ์หมู่กันได้ เพราะเห็นข่าวว่าผู้ใหญ่ก็ยังกระทำกันได้ แม้แต่เด็ก ป.6 ใน จ.ลำปาง ที่ใช้มีดแทงเพื่อนเสียชีวิตหลังทะเลาะกัน อาจมีสาเหตุมาจากการเสพข่าวความรุนแรงจำพวกนักเรียนถือปืนผาหน้าไม้ยกพวกตีกันก็เป็นได้

น่าเป็นห่วงที่ผู้ใช้จำนวนมากเข้าใจว่าตนมีอิสระที่จะเผยแพร่อะไรก็ได้ลงบนพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว ทั้งที่ความเป็นจริงมีแต่พื้นที่สาธารณะที่ให้พื้นที่ความเป็นส่วนตัวได้บ้าง ผู้ใช้สื่อที่พร่องวิจารณญาณอาจเลือกรับสารอย่างขาดการไตร่ตรอง และนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมในชีวิตจริงได้

ขณะเดียวกันถ้าเห็นว่าสื่อนำเสนอข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ เน้นขายข่าว เสนอปรากฏการณ์เชิงเร้าอารมณ์เกินไป ไม่สะท้อนปัญหาที่นำไปสู่วิธีแก้ไขแล้ว ผู้รับสื่อก็มีสิทธิปิดรับข่าวสารจากแหล่งนั้นได้ทันที เพราะถ้ารับข่าวมากๆ แล้วเก็บไปคิด ปลงตกจนจิตซึมเศร้า ไม่มีภูมิคุ้มกันตนเองจากสิ่งเร้าที่ดีพอ อาจตัดสินใจแก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีที่สื่อตีแผ่ออกไป

บางครั้งการปิดรับไม่ต้องได้ยินอะไร ไม่เชื่อทุกอย่างที่หูได้ยินตาเห็น ก็ช่วยลดความเครียดรุมเร้าได้ ขนาดพระพุทธองค์ยังตรัสสอนในกาลามสูตร 10 ว่าอย่าปลงใจเชื่ออะไรง่ายๆ ไม่มีอะไรเที่ยงแม้กระทั่งสัมผัสทั้ง 5 ของคน

&<2288;

 

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;

&<2288;