posttoday

โวยพอช.ขวางแรงงานซื้อบ้าน-ที่ดิน

08 กรกฎาคม 2555

โวย พอช. ปราจีนฯกีดกันปล่อยเงินกู้ให้แรงงานถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไล่ให้ไปเช่าที่ราชพัสดุ 30 ปีสร้างบ้าน

โวย พอช. ปราจีนฯกีดกันปล่อยเงินกู้ให้แรงงานถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไล่ให้ไปเช่าที่ราชพัสดุ 30 ปีสร้างบ้าน

นายณรงค์  เพ็ชรประเสริฐ  ที่ปรึกษาสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน จำกัด เปิดเผยว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ระดับจังหวัดปราจีนบุรีในเขตอุตสาหกรรมกบินบุรี 304 กีดกันการปล่อยสินเชื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มออมทรัพย์ของแรงงานที่นำเสนอโครงการขอสินเชื่อจัดตั้งหมู่บ้านแรงงานด้วยการออมทรัพย์จัดซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง และขอสินเชื่อสนับสนุนที่จะได้มาซึ่งการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเอง

ขณะที่แนวคิดใหม่ที่เป็นโครงการนำร่องของกลุ่มแรงงาน 71 ครอบครัว นำเสนอต่อ พอช. คือ ทางกลุ่มสามารถออมเงินได้ครอบครัวละ 3 หมื่นบาทโดยทางกลุ่มสามารถจัดซื้อที่ดินได้แล้ว15 ไร่  จัดซื้อได้ราคาไร่ละ 1.4 แสนบาท หรือ ตารางวาละ 350 บาท โดยสมาชิกสหกรณ์ในกลุ่มคนตกลงร่วมกันแบ่งการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินคนละ 50 ตารางวาเท่าๆกันโดยเสนอขอสินเชื่อ พอช. จำนวน 19 ล้านบาท หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 แสนบาท เพื่อมาก่อสร้างบ้านระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี 

นายณรงค์ กล่าวว่าทาง พอช. ระดับจังหวัดพยายามบังคับให้กลุ่มแรงงานไปเช่าที่ดินของราชพัสดุเป็นเวลา 30 ปี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวไม่มีหลักประกันได้ว่าเมื่อเช่าที่ดินรัฐสร้างบ้านไปแล้วครบสัญญา 30 ปี ลูกหลานของกลุ่มแรงงานจะยังสามารถอยู่อาศัยในบ้านหลังดังกล่าวหรือโดนเวนคืนหรือไม่

ทั้งนี้ทาง พอช.ได้บังคับให้ทางกลุ่มแรงงานจัดสรรที่อยู่อาศัยแบบบ้านมั่นคง คือ หนึ่งครัวเรือนไม่ควรมีบ้านใหญ่กว่า 25 ตารางวา ไม่ควรมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่ควรเช่าที่ดินรัฐ 30 ปีสร้างบ้าน เหมือนกับคนจนเมืองในพื้นที่ชุมชนแออัด

นายณรงค์ กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวอยากเรียกร้องให้ผู้บริหาร หรือ บอร์ด พอช. ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านใหม่ทั้งในระดับโครงสร้าง องค์กร พอช.  เพราะการจัดสรรที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ต้องตอบสนองวิถีชีวิต อาชีพ การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อรอง และการเข้าถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของตนเองด้วย

“อยากให้ทาง พอช.เข้าใจวิถีชีวิตของแรงงานที่ส่วนใหญ่ต้องเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆโรงงาน เงินเดือนค่าโอทีที่ได้มาหมดไปกับค่าเช่าบ้านจนแทบไม่เหลือเงิน แต่หากมีการรวมกลุ่มเป็นชุมชนเป็นหมู่บ้านแรงงานจะได้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและอาชีพเสริมขึ้นได้ภายในชุมชน” นายณรงค์ กล่าว