posttoday

กบอ.เผยกรมเจ้าท่ายังบริหารน้ำอืด

03 กรกฎาคม 2555

กบอ.รับหลายหน่วยงานจัดการระบายน้ำล่าช้ามากโดยเฉพาะกรมเจ้าท่า ขณะที่นายกฯเรียกประชุมทุกสัปดาห์ติดตามความคืบหน้า

กบอ.รับหลายหน่วยงานจัดการระบายน้ำล่าช้ามากโดยเฉพาะกรมเจ้าท่า ขณะที่นายกฯเรียกประชุมทุกสัปดาห์ติดตามความคืบหน้า

นายกิจจา ผลภาษี ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม โดยกำชับว่าหลังจากนี้จะมีการเรียกประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาจำนวนมากจนทำให้โครงการล้าช้า แต่รัฐบาลก็พยายามเร่งรัดแล้ว ซึ่งในวันนี้ (3ก.ค.) ได้ไล่ติดตามงานใครรับผิดชอบโครงการไหน อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ โครงการที่ล่าช้ามีอยู่หลายจังหวัด เช่น โครงการขุดลอกคูคลองของกรมเจ้าท่า ในพื้นที่ต้นน้ำที่ล่าช้าอยู่เพราะไม่มีความพร้อม ส่วนกรมชลประทาน กรมโยธาธิการ มีความคืบหน้ามาก ซึ่งนายกฯได้กำหนดระยะเวลาว่าในโครงการที่ยังมีความล่าช้า ภายในเดือนส.ค. จะต้องทำให้ได้ แต่บางอย่างก็อาจจะล่าช้าออกไปถึงก.ย. ได้ ซึ่งนายกฯได้เร่งโครงการที่มีความเร่งด่วนจะต้องใช้ในปีนี้ก่อน

“บางโครงการอาจจะช้า แต่ดูแล้วจะไม่เกิดความเสียหาย เช่น คันกั้นน้ำบางจุดที่สร้างขึ้นมาได้แล้ว แต่อาจจะยังไม่ได้ระดับ หรืออาจจะยังไม่ได้ทำผิวของคัน แต่ก็กั้นน้ำได้  ส่วนสถานการณ์น้ำในปีนี้จะท่วมอีกหรือไม่นั้น ก็ได้ทำกันอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งการประเมินอย่าไปเชื่อใคร เวลานี้ยังไม่มีใครรู้ ใครที่บอกว่าท่วมหรือไม่ท่วมอย่าไปเชื่อ ซึ่งประเมินยังไม่ได้ แต่ประชาชนยังสามารถไว้วางใจได้ว่า เรามีแผนป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายเหมือนปี 2554 และถ้าน้ำเท่ากับปี 2554 ความเสียหายจะน้อยกว่า”นายกิจจา กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม่น้ำยมที่ไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ เห็นว่าจะต้องมีแหล่งกักเก็บน้ำเพราะมีความจำเป็น ซึ่งระยะเร่งด่วนจะต้องช่วยเปลือประชาชนโดยอาจทำเป็นโครงการย่อยๆ ในบางจุด เช่น เป็นคันกั้นน้ำ หาแหล่งน้ำกรณีที่เกิดน้ำแล้ง

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ทุกวันพฤหัสฯ เพื่อประชุมหารือถึงแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในส่วนของพื้นที่ต้นน้ำมีการหารือเรื่องฝาย ซึ่งส่วนใหญ่เสร็จแล้ว และมีบางส่วนที่จะเสร็จในกลางเดือนก.ค.นี้ ทั้งฝายถาวร และกึ่งถาวร

ส่วนระดับน้ำในเขื่อนปีนี้สามารถเก็บน้ำได้มากกว่าปีที่แล้ว เพราะระดับน้ำที่มีอยู่น้อยกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 4-5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่พื้นที่ กลางน้ำเป็นการหารือเรื่องพื้นที่แก้มลิง และการขุดลอกคูคลอง รวมถึงประตูระบายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทุกอย่างเป็นไปตามแผน

สำหรับพื้นที่ปลายน้ำ ได้มีการหารือในหลายเรื่องโดยพื้นที่ตะวันออก ก็มีเรื่องของแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ และคันกั้นน้ำบริเวณคลองรังสิต ตั้งแต่ประตูระบายจุฬาลงกรณ์จนถึงคลอง 7 ลงมาตามแนวคันกั้นน้ำเดิม ซึ่งจะเสร็จสิ้นตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ดอนเมือง เมืองเอก ซึ่งประตูระบายจุฬาลงกรณ์ได้ซ่อมแซมและสามารถระบายน้ำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา หลายเท่าตัว

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า ส่วนคันกั้นน้ำตามแนวที่จะออกทางแม่น้ำเจ้าพระย าก็จะเสร็จสิ้นภายในเดือนส.ค. และการขุดลอกคูคลองในกทม. ส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ขณะที่ด้านฝั่งตะวันตก ก็สามารถดำเนินการไปได้จำนวนมากแล้ว

นอกจากนี้ นายกฯได้ให้ความสนใจ และต้องการให้ติดตามความคืบหน้าแผนบริหารจัดการน้ำทุกสัปดาห์ เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน และในวันเสาร์ที่ 7 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า การระบายน้ำในช่วงน้ำหลากจะดำเนินการได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา และในพื้นที่ กทม. ปัญหาก็จะดีกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน