posttoday

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคุกแดงบุกบ้านสส.

23 พฤษภาคม 2555

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี 10เสื้อแดงบุกล้อมบ้าน "ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ"

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี 10เสื้อแดงบุกล้อมบ้าน "ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ"   

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้อ่านคำพิพากษากรณีพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กลุ่มคนเสื้อแดงจำนวน 10 ราย คือ 1 นายวิวัฒน์ สามหมาดไทย 2.นายวีระพันธ์ ไชยจันดา 3.นายชัยจักร พลศักดิ์ 4.นายสุพรรณ ทาปลัด 5.นายพนมรุ่ง ศรศิริ 6.นายสุทัศน์ สิงห์บัวขาว 7.นายทนงศักดิ์ กงผัน 8.นายธงชัย จาริชานนท์ 9.นายวรวิทย์ จำนงค์นอก และ 10.นายไพรวัลย์ แสนสะท้าน ซึ่งได้บุกล้อมบ้านนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ อดีต ส.ส.ขอนแก่น บริเวณริมบึงแก่นนคร เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553

ทั้งนี้ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหา ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก ความผิดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยศาลชั้นต้นพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1,2,3,7,8,9 และ 10 ขออุทธรณ์คำพิพากษา

ศาลเห็นว่า ข้อหาทั้งหมดนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว พิจารณาพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 7 ถึงที่ 10 มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงชอบแล้ว

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 7 ถึงที่ 10 อุทธรณ์ว่าพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สิ้นสภาพการใช้บังคับไปแล้วโดยปริยายนั้น ศาลเห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สิ้นสภาพบังคับใช้ การสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ไม่มีผลทำให้พระราชกำหนดดังกล่าวสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด

กรณีที่อ้างว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 รวม 4 ฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี การตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งคำสั่งของศูนย์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ดี และพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ดี ล้วนเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ที่ขัดต่อคำรับสารภาพ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น

ในกรณีนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัย และการที่ศาลชั้นต้นพิพากษากำหนดวางโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ถึงที่ 10 หลังลด ให้จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี ก็เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข จึงพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น