posttoday

ปัตตานีปล่อยสัตว์น้ำช่วยชาวประมง

04 เมษายน 2555

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงชายฝั่ง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงชายฝั่ง

ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณ ม. 4 บ้านดาโต๊ะ ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ผอ.ศูนย์ฯพร้อมเจ้าหน้าที่ประมงเร่งการคัดพันธุ์ปลากะพงขาว และกุ้งกุลาดำนำมาบรรจุถุงเพื่อลำเลียงไปปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง และอำเภอไม้แก่น เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวประมงพื้นบ้าน ที่นับวันจะมีจำนวนสัตว์น้ำน้อยลง สร้างผลกระทบต่อรายได้ในการดำเนินวิถีชีวิตในยามข้าวยากหมากแพงของชาวประมงเป็นอย่างมาก

นายธนาวุธ  กล่าวว่า ทางศูนย์ได้มีการจัดเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอย่างต่อเนื่องและได้นำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ทางศูนย์ฯได้นำลูกกุ้งกุลาดำปล่อยในแหล่งน้ำดังกล่าว เพียงแค่ 3 เดือน ชาวบ้านสามารถจับได้เป็นกุ้งกุลาดำขนาดตัวเต็มวัยและตัวขนาดกลางจำนวนมากจึงสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประมงได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากข้อจำกัดบางอย่าง ทางศูนย์วิจัยฯสามารถผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อนำปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นพันธุ์ปลากะพงขาว จำนวน 35,000 ตัว กุ้งุกุลาดำขนาด พี-แอล 15 จำนวน5,000,000 ตัว กุ้งกุลาดำขนาดหนึ่งพันถึงสองพันตัวต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งทางจังหวัดปัตตานีได้สนับสนุบงบประมาณ จำนวน2,700,000 ตัว กุ้งแช่บ๊วยขนาด พี-แอล จำนวน35,000,000 ตัว และมีการผลิตพันธุ์หอยหวานอีก7,000,000 ตัว เพื่อนำไปปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบด้วยอ่าวปัตตานี อ่าวไทยบริเวณชายฝั่งปัตตานีที่มีพื้นที่รอยต่อกันได้แก่อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น

การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยมีเป้าหมายที่จะให้เพิ่มจำนวนสัตว์น้ำนั้นต้องปล่อยอย่างต่อเนื่องถึงจะเห็นผลเนื่องจากในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่มีประชาชนเข้าทำประมงทุกวัน

นายอับดุลวาฮับ สะอิ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านตำบลบาราโหมกล่าวว่าสัตว์น้ำในอ่าวปัตตานีมีจำนวนลดลงมาก บางวันจับได้ไม่คุ้มค่าน้ำมันที่มีราคาที่แพง เพราะทำประมงเรือขนาดเล็กซึ่งส่วนใหญ่ใช้เครื่องน้ำมันเบนซินจึงยิ่งสร้างความเดือนเป็นเท่าตัว บางวันได้แต่รอเมื่อไรทางศูนย์วิจัยฯเขาจะนำมาปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำอีก เพราะทุกวันนี้กุ้งส่วนใหญ่ที่เราจับได้เป็นกุ้งที่ทางศูนย์ได้ร่วมชาวประมงพื้นบ้านนำมาปล่อยเมื่อครบสามเดือนพวกเราก็เตรียมจับต่อ เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นใจพวกเราด้วย โปรดช่วยจัดสรรงบประมาณจัดหาพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยให้มากยิ่งขึ้น