posttoday

สปส.ตั้งแง่ดองป่วยฉุกเฉิน

04 เมษายน 2555

บอร์ด สปส. ไม่เห็นชอบแก้ประกาศเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวตามนโยบายรัฐบาล

บอร์ด สปส. ไม่เห็นชอบแก้ประกาศเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวตามนโยบายรัฐบาล

ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติไม่เห็นชอบข้อเสนอขอแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินตามนโยบายรัฐบาล ที่ประกาศให้มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เดิมที สปส.กำหนดให้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยกรณีฉุกเฉินและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนอกเครือข่าย สปส. ต้องสำรองจ่ายเงินก่อนแล้วจึงค่อยเบิกคืนในภายหลัง โดย สปส.จะดูแลค่าใช้จ่ายไม่เกิน 72 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไขเพื่อให้ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน ที่รัฐบาลต้องการให้ 3 กองทุนสุขภาพรักษาผู้ป่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยมาตรฐานเดียวกัน

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ตัวแทนบอร์ด สปส. ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเกรงว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งป่วยด้วยโรคร้ายแรงและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินกับโรงพยาบาลเอกชน และนิยามคำว่าฉุกเฉินในบางกรณียังคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยบอร์ดทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าหากเกิดกรณีเช่นนี้จริง จะทำให้ สปส. ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลสูงขึ้นอีกมหาศาล

นอกจากนี้ บอร์ด สปส.ทั้งสองฝ่ายยังเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างความขัดแย้ง อาทิ กรณีที่โรงพยาบาลนอกเครือข่าย สปส. รักษาจนอาการทุเลาและเตรียมส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดของผู้ประกันตน แต่โรงพยาบาลต้นสังกัดยังมีเตียงไม่พอ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอ ในกรณีนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการรอส่งต่อ ผู้ประกันตนก็ต้องจ่ายเงินเอง

“ปัญหาคือแนวทางรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินมีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกันระหว่าง 3 กองทุนไปแล้ว ทั้งๆ ที่บอร์ด สปส.ยังไม่ได้เห็นชอบ ถามว่าไปเซ็นกันได้อย่างไร แต่ในเมื่อตัวแทนภาครัฐพยายามขอร้องให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเห็นด้วย ที่ประชุมจึงเห็นควรให้นำกลับมาพิจารณาใหม่ในครั้งหน้า” แหล่งข่าว เปิดเผย

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ข้อเสนอขอแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์น่าจะผ่านการเห็นชอบไปได้ เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ สปส. ต้องปฏิบัติตามนโยบาย รมว.แรงงาน การตีกลับข้อเสนอในครั้งนี้จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งหมดวาระไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า ยืนยันว่าผู้ประกันตนใช้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และ สปสช.ก็เตรียมงบสำรองจ่ายไว้แล้ว