posttoday

เสียงร้องจากแม่ลูกทวงความเป็นธรรมให้พ่อ

04 เมษายน 2555

ต้องยอมรับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างใน กทม.มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดย...ธนก บังผล

ต้องยอมรับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างใน กทม.มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เงินค่าคุ้มครองในมือมาเฟียวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างนี้เอง เป็นเหตุให้เกิดคดีฆ่ากันตายมานักต่อนักแล้ว บางคดีก็กลายเป็นเงื่อนงำไม่คืบหน้า

น.ส.วริศรา พลราช กับ น.ส.อารยา ภูนาเหนือ สองแม่ลูกจูงมือกันมาที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) หลังจาก นายบัวเรียน พลราช พ่อแท้ๆ ของเธอ เข้าไปในวงการวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างสุขุมวิท 77 จนนำมาสู่การถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2553 เบื้องหลังคดีนี้แม้ไม่ซับซ้อน แต่เวลาผ่านไปแล้ว 2 ปี กลับไม่คืบหน้า และทำท่าว่านายบัวเรียนจะตายฟรี

แรกเริ่มเดิมทีนายบัวเรียนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่แล้วเลยเข้าไปติดต่อกับทางวินสุขุมวิท 77 เพื่อขอเข้าร่วมวิ่งด้วย โดยต้องเสียค่าวินวันละ 20 บาท ทุกคนก็จ่ายกัน

จนกระทั่งรัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะได้รับร้องเรียนว่า ผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ได้เข้าไปหาผลประโยชน์จากการขูดรีดผู้ขับขี่รถ หนักข้อขึ้นก็ชักจะเริ่มตั้งตัวเป็นมาเฟียในพื้นที่ไม่เกรงกลัวตำรวจ

พอมีเสื้อส้ม ประกาศห้ามขายเสื้อวิน ห้ามเก็บค่าคุ้มครอง มาเฟียคุมวินสุขุมวิท 77 ก็ยังเก็บเงินค่าคุ้มครองเหมือนเดิม ทำให้หลายคนในวินไม่พอใจ และนายบัวเรียนเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อถึงการจัดตั้งประธานวินขึ้นมาดูแล นายบัวเรียนได้รับเลือกมันก็เลยกลายเป็นเรื่อง

เพราะนอกจากมาเฟียจะถูกต่อต้านเก็บค่าคุ้มครองไม่ได้ เงินที่เคยเข้ากระเป๋าก็ยังเปลี่ยนมือมาเป็นนายบัวเรียนที่ชนะโหวต จำนวนเงินที่หายไปคิดคร่าวๆ แล้ว มอเตอร์ไซค์ 1 คันต้องจ่าย 600 บาท/เดือน ที่วินสุขุมวิท 77 มีวิน 83 คัน เกือบ 5 หมื่นบาท!!! ขั้นตอนการขู่เอาอำนาจคืนก็เริ่มขึ้น

น.ส.วริศรา บอกว่า พ่อของเธอถูกขู่ ถูกทำร้าย จนต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.พระโขนง เมื่อปี 2550 พร้อมทั้งเคยเปรยๆ หากเกิดอะไรขึ้นก็เพราะมาเฟียกลุ่มนี้

มีการแจ้งความว่าผู้มีอิทธิพลกลุ่มนี้ นำโดย นายบรรพจน์ จันทมาลี (กิ๊ฟ) นายไพรินทร์ สุวรรณเจิดจิต (ตี๋) นายวัฒนา สง่าเมือง (ตุ้ม) และนายสมชาย สีเที่ยงธรรม (แมว) เป็นแกนหลักนำทีม รวมกับพรรคพวกอีก 10 คน

ต่อมานายบัวเรียนหาที่จอดวินมอเตอร์ไซค์ที่เพิ่มขึ้น และต้องเสียค่าที่เดือนละ 9,600 บาท จึงให้ทุกคนที่วินช่วยจ่ายกันเดือนละ 200 บาท/คน กลุ่มมาเฟียอำนาจเดิมก็ป่วนด้วยการไม่จ่าย ทำให้บางเดือนนายบัวเรียนต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง

ขั้นตอนการทวงคืนยังมีการข่มขู่ถึงที่บ้าน มีการให้คนอื่นมาแซงวิน เพื่อให้นายบัวเรียนลาออกจากตำแหน่งประธานวิน บางคราวมาเฟียก็ยกพวกมา 10 กว่าคน บอกให้นายบัวเรียนและพรรคพวกลาออกจากการเป็นประธานและคณะกรรมการ แต่นายบัวเรียนปฏิเสธ

“กูเป็นคนก่อตั้งวินขึ้นมา น่าจะมีส่วนแบ่งให้กูบ้าง ไม่มากก็น้อย” หัวโจกกลุ่มมาเฟียเริ่มหมดความอดทน ก่อนที่ลูกน้องคนหนึ่งเข้ามากระชากคอเสื้อแล้วขู่ว่า “ไอ้บัว มึงไม่ตายดีแน่ ฝากไว้ก่อนเถอะมึง”

เหตุการณ์ปะทะครั้งนี้ น.ส.วริศรา และ น.ส.อารยา ลูกกับเมียอยู่ในเหตุการณ์ตลอด เมื่อขู่ไม่สำเร็จ หัวโจกมาเฟียใช้ไม้อ่อนกับนายบัวเรียน “ถ้ามึงทำตามกู มึงก็จะสบาย” ตามต่อด้วยการเสนอให้ส่วนแบ่ง แต่นายบัวเรียนยังคงปฏิเสธ

1 เดือนต่อมา วันที่ 20 ม.ค. 2553 มีผู้หญิงคนหนึ่งมาที่วินแล้วให้นายบัวเรียนไปส่งที่อ่อนนุช 17 แยก 18 เมื่อส่งเสร็จแล้วก็ขี่รถกลับ ระหว่างทางจึงถูกดักยิงหน้าบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) ในซอยอ่อนนุช 17 แยก 16 จนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไปแล้ว 2 ปีทุกอย่างยังคงเงียบสนิท 2 ปีที่สองแม่ลูกต้องหนีและเปลี่ยนที่พักตลอด เพราะกลัวการตามเก็บปิดปาก เคยร้องเรียนไปยัง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รอง ผบช.น. ก็เงียบ ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการตำรวจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ...ก็เงียบ

น.ส.อารยา เป็นแม่บ้าน เสียเงินเสียเวลาต้องเดินทางไปขอความเป็นธรรม งานขาดบ่อย เงินร่อยหรอ ยังต้องพาลูกสาวหลบหนีการตามเก็บของพวกมาเฟียอีก

ทุกวันนี้วินสุขุมวิท 77 ผู้มีอิทธิพลกลุ่มดังกล่าวเข้ามาเก็บค่าวินและตั้งตนเป็นประธานและคณะกรรมการวินขึ้นมาเอง

เสียงปืนเพียงนัดเดียวที่ปลิดชีวิตนายบัวเรียนวันนั้น ทำให้วันนี้ลูกวินทุกคนเงียบและทำตามนโยบายอย่างโดยดี

“ไปมาหลายที่ไปจนเหนื่อย มีคนแนะนำให้มาที่นี่ เพราะเห็นว่าที่กองปราบฯ เป็นที่พึ่งสุดท้าย ถ้าไม่มีอะไรคืบหน้าอีกก็คงไม่ไปร้องเรียนที่ไหนแล้ว” สองแม่ลูกกล่าว ท่ามกลางความสงสัยว่าทำไม 2 ปีคดีถึงไม่คืบหน้า!!!