posttoday

เปิด "เอ็มโอยู" 3 ระบบสุขถาพมาตรฐานเดียวสพฉ.แจงเกณฑ์คัดกรองป่วยฉุกเฉิน

28 มีนาคม 2555

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

วันที่ 28 มี.ค.นี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย วิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะต้นสังกัดของทั้งสามกองทุนสุขภาพ จะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) “ในการสร้างหลักประกันสุขภาพที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนไทยและระบบบริการในภาพรวม” ระหว่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ 6 หน่วยงานผู้ให้บริการ

สำหรับสาระสำคัญ คือ ทั้งสามกองทุนตกลงที่จะพัฒนาระบบร่วมกันใน 3 กรอบใหญ่ ได้แก่ 1.จะร่วมกันพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการตามความจำเป็นอย่างเท่าเทียม

มุ่งเน้นการพัฒนาและกำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์หลัก บูรณาการการรักษาโรคที่สร้างปัญหาให้กับระบบสาธาณสุข อาทิ ไตวายเรื้อรัง เอดส์ นอกจากนี้จะร่วมกันพัฒนาระบบบริการที่จำเป็น พัฒนาสายด่วน และร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่ประชาชน

2.จะร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการ ให้มีทิศทางที่เกื้อหนุนกันและกัน ได้แก่ ระบบบริหารจัดการ การต่อรองราคา การกำหนดราคากลาง การจัดซื้อจัดหายาและเครื่องมือ นอกจากนี้จะพัฒนาระบบงานหักบัญชี ระบบการตรวจสอบและควบคุมกำกับการชดเชยค่าบริการ ระบบข้อมูลสารสนเทศ ระบบมาตรฐานข้อมูล เช่น มาตรฐานรหัสยาและเครื่องมือแพทย์ มาตรฐานกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและมาตรฐานสถานพยาบาล

3.จะร่วมกันพัฒนาระบบการจ่ายเงินค่าบริการให้หน่วยบริการและสถานพยาบาล เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมในการได้รับบริการสาธารณสุขและการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว โดยจะเน้นการกำหนดวิธีการจ่ายเงินชดเชยแก่สถานพยาบาล การแลกเปลี่ยนข้อมูลการเบิกจ่าย และนำไปสู่การพัฒนาระบบและวิธีการจ่ายเงินในอนาคต

นอกจากนี้ จะเน้นถึงการกำหนดอัตราจ่ายสำหรับบริการเฉพาะบางรายการ อาทิ บริการหรือเทคโนโลยีที่มีราคาสูงหรือบริการใหม่ๆ

เปิด "เอ็มโอยู" 3 ระบบสุขถาพมาตรฐานเดียวสพฉ.แจงเกณฑ์คัดกรองป่วยฉุกเฉิน

 

“บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ทำขึ้นมาเป็น 3 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน และให้มีผลนับแต่วันที่ได้ลงนามในบึนทึกความร่วมมือเป็นต้นไป ซึ่งทั้งสามฝ่ายได้อ่านและเข้าใจข้อความโดยตลอดแล้ว เห็นว่าถูกต้องตามความประสงค์ จึงได้ลงนามไว้เป็นหลักฐานและเก็บรักษาไว้ฝ่ายละหนึ่งฉบับ” บันทึกข้อตกลงระบุในตอนท้าย

ขณะที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ให้ความชัดเจนเรื่องกรอบคำนิยาม “การเจ็บป่วยฉุกเฉิน” หมายถึง การได้รับอุบัติเหตุหรือมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน เป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมินจัดการและบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือความพิการ

หน่วยปฏิบัติการสถานพยาบาลและผู้ปฏิบัติการฉุกเฉิน มีหลักเกณฑ์คัดแยกระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ดังนี้

1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต หากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันที เพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้อาการุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว

ตัวอย่างเช่น ภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะหยุดหายใจ ภาวะช็อกจากการเสียเลือดรุนแรง มีอาการชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว หมดสติไม่รู้สึกตัว มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน มีอาการทางสมองจากหลอดเลือดสมองตีบตัน มีความจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด รวมถึงอาการเลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ได้แก่ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมาก หรือเจ็บปวดรุนแรงอันอาจจำเป็นต้องได้รับปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน มิฉะนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ส่งผลให้เสียชีวิตหรือพิการในระยะต่อมาได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นภาวะที่ต้องการการช่วยเหลือโดยเร็ว รอได้บ้างแต่ไม่นาน

ตัวอย่างเช่น หายใจลำบากหรือเหนื่อยหอบ ชีพจรช้ากว่า 40 หรือเร็วกว่า 150 ครั้ง/นาที ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาต หรือตาบอดหูหนวกทันที ตกเลือด มือเท้าเย็นซีดและเหงื่อแตก ความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างสูงกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศา หรือสูงกว่า 40 องศา ถูกพิษ

3.ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเองได้ แต่หากไม่ได้รับรักษาอาการจะรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ สพฉ.จะจัดประชุมผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อทำความเข้าใจบทบาท PreHospital Care หรือการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ จนได้รับการรักษาอย่างปลอดภัย

สำหรับวาระการประชุมที่น่าสนใจในวันดังกล่าว ได้แก่ การเตรียมพร้อมศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 และห้องฉุกเฉิน (ER) ตามแนวทางเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน และการเตรียมการชดเชยค่าบริการและการเป็น Clearing House ของ สปสช.

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช. อธิบายหลักการการจ่ายเงินชดเชยว่า กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายของตัวเอง ให้เป็นไปตามระบบปกติของทั้งสามกองทุน แต่หากเข้ารับการรักษานอกเหนือจากนี้ “ผู้ป่วยนอก” จะจ่ายตามกลุ่มอัตราที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง ส่วน “ผู้ป่วยใน” จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี โดยให้น้ำหนักระดับละ 1.05 หมื่นบาท

สำหรับวิธีการของโรงพยาบาลนอกเครือข่าย คือ ผู้ป่วยจะถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด โรงพยา บาลนั้นต้องให้การรักษาทันที แล้วจึงลงทะเบียนเบื้องต้น บันทึกข้อมูลการให้บริการ ก่อนจะส่งมาที่หน่วยงานเบิกจ่ายกลางของ สปสช.

จากนั้น สปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ฉายภาพความพร้อมในการเป็นหน่วยงานเบิกจ่ายกลางว่า ล่าสุด สปสช.ได้กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลเกือบ 200 รายการ ให้เป็นราคากลางในการเบิกจ่ายค่าบริการให้กับสถานพยาบาล โดยหน่วยบริการสามารถส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ทุก 15 วัน และ สปสช.จะจ่ายเงินคืนให้สถานพยาบาลภายใน 15 วันเช่นกัน

“ผมคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนมีความพร้อมแล้ว เพราะได้รับการชี้แจงมาพอสมควร ส่วนระบบการจ่ายนั้น สปสช.มีหน้าที่จ่ายเงิน ในระยะ 12 เดือนแรก เราจะถือหลักว่าเมื่อโรงพยาบาลเอกชนรักษาและบอกว่านี่คือภาวะฉุกเฉิน เราก็จะจ่ายเงิน เพราะเราเอาผู้ป่วยเป็นตัวตั้ง” เลขาธิการ สปสช. ระบุ

พร้อมกันนี้เตรียมประชุมร่วมกับสถานพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการให้บริการตรงกัน และป้องกันเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากผู้ป่วย