posttoday

เพศศึกษาในบ้าน

04 มีนาคม 2555

ใช่...แม้ว่าจะมีการสอนเรื่องเพศศึกษาอยู่บ้าง

โดย...จอยฟูล ซีเล็คชัน / ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ใช่...แม้ว่าจะมีการสอนเรื่องเพศศึกษาอยู่บ้าง แต่ความจริงก็คือ เนื้อหาที่สอนสอนกันยังไปไม่ถึงมิติเรื่องสัมพันธภาพ และความหลากหลายทางเพศ อุปสรรคอันดับหนึ่งของเรื่องเพศศึกษาในไทยคือ ทัศนคติที่ไม่เข้าที่เข้าทางกับวัฒนธรรมไทย สถานศึกษาส่วนใหญ่จึงกังวลว่า หากยิ่งสอนเรื่องนี้ ก็จะยิ่งสร้างความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศมากขึ้น ปัญหานี้คล้ายกันกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้าน ซึ่งกลัวว่า ถ้ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

นี่คือสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ทำให้การเรียนการสอนของเพศศึกษาแคบลงทุกขณะ และแม้ว่าจะมีการสอนกันอยู่บ้าง แต่ก็พบว่าเนื้อหาที่เกี่ยวกับเพศศึกษาไปผูกติดกับวิชาสุขศึกษา หรือวิชาชีววิทยา ที่บอกในเชิงวิชาการว่า เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธุ์ หากไข่ผสมกับอสุจิจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ขณะที่มิติของ “สัมพันธภาพ” ของความเป็นเพศชายเพศหญิง การปฏิบัติตัวซึ่งกันและกัน การรับผิดชอบ แทบจะไม่มีการพูดถึงในชั้นเรียน หรือที่บ้านก็เช่นกัน

องค์การแพธ (ประเทศไทย) องค์การที่สร้างความตระหนักถึงปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น ระบุว่า จากผลการวิจัยของหลายๆ สถาบัน เด็กๆ อยากรู้ว่าพวกเขาควรปฏิบัติตัวอย่างไร ควรปฏิบัติต่อเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามอย่างไร เมื่อสื่อหลักในห้องเรียนไม่สามารถเข้าถึงความอยากรู้อยากเห็นนี้ได้ สื่อรองบนโลกอินเทอร์เน็ตจึงเข้ามาเป็นครูแทนที่ครูตัวจริงในห้องเรียน

งานวิจัยในต่างประเทศพบว่า การสอนเพศศึกษาไม่ได้กระตุ้นให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่ยิ่งจะทำให้พวกเขาคิดเรื่องนี้ช้าลง และมีความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติตัวในเรื่องเพศที่ถูกต้องมากขึ้นต่างหาก

เพศศึกษาในบ้าน

ความพยายามของแพธ คือ การพัฒนาหลักสูตรที่เรียกว่า “เพศวิถีศึกษาเพื่อเยาวชน” โดยร่วมกับโรงเรียนที่มีความสนใจ นำหลักสูตรเพศศึกษามาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับนักเรียนในสังกัด ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา รวม 1,700 แห่ง ใช้หลักสูตรดังกล่าว

หลักสูตรพัฒนาขึ้นเพื่อต้องการให้เยาวชนไทยใช้ชีวิตทางเพศด้วยความรับผิดชอบและปลอดภัย มากกว่าจะให้นักเรียนไม่รู้จักเพศศึกษาสัมพันธ์จนกว่าจะแต่งงาน ผลตอบรับเป็นไปด้วยดี เด็กนักเรียนชอบที่จะให้ครูสอนเรื่องนี้ เป็นวิชาเดียวที่นักเรียนมานั่งรอเรียน ตัวครูก็ได้ใจเด็กไปเต็มๆ เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โรงเรียนที่นำหลักสูตรของแพธไปสอน ครูกลายเป็นแหล่งข้อมูลเรื่องเพศ หรือคนรัก (จากเดิมที่ครูเป็นกลุ่มสุดท้าย)

ที่สำคัญคือ เครือข่ายผู้ปกครอง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นให้โรงเรียนมีวิชาเพศศึกษา ต้องช่วยกันกระตุ้นให้โรงเรียนมีวิชาเพศศึกษา เรียกร้องให้มีการบรรจุหลักสูตรนี้ เสียงของผู้ปกครองจะลดข้ออ้างของสถานศึกษาว่า ไม่อยากสอนเพราะกลัวผู้ปกครองตำหนิ มาสอนเรื่องเพศสัมพันธ์ในห้องเรียนทำไม เรื่องเพศศึกษาจะได้ไร้ข้ออ้างที่จะละเลย

ยิ่งไปกว่านั้นคือ บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้าน ที่ควรช่วยสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาแก่บุตรหลาน พูดคุยให้ความรู้ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะมิติของสัมพันธภาพความรับผิดชอบ การจัดการชีวิต การเน้นให้เด็กได้รู้ถึงคุณค่าของตัวเอง การสร้างสัมพันธภาพระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆ สุขภาพทางเพศ สังคมวัฒนธรรม ทักษะส่วนบุคคล เช่น การต่อรองและการปฏิเสธ ในกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

ในมุมมองของแพธ เพศศึกษาคือเรื่องที่เยาวชนควรศึกษา ขณะที่ผู้ปกครองก็ต้องให้ความร่วมมือ เรียนรู้และพูดคุยกับเด็กของตัวเอง เอาใจใส่และตระหนักว่าบ้านและโรงเรียนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ความรู้เรื่องเพศอย่างเข้าใจแก่เด็กๆ การสอนสัมพันธภาพทางเพศและเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้องจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก n

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ