posttoday

กฟผ.พร่องน้ำ2เขื่อนใหญ่

03 กุมภาพันธ์ 2555

กฟผ.พร่องน้ำในอ่าง 2 เขื่อนใหญ่อย่างต่อเนื่องเตรียมพร้อมรับปริมาณน้ำฝน ขณะที่ ชาวอุตรดิตถ์เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว

กฟผ.พร่องน้ำในอ่าง 2 เขื่อนใหญ่อย่างต่อเนื่องเตรียมพร้อมรับปริมาณน้ำฝน ขณะที่ ชาวอุตรดิตถ์เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว

นายธนรัชต์ ภูมมะกสิกร ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ เปิดเผยว่า เขื่อนใหญ่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทยอยระบายน้ำตามนโยบายป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล โดยในส่วนเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มการระบายเป็นวันละ 44-50 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ตั้งแต่สิ้นเดือน ม.ค.-เม.ย.55 ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงวันละประมาณ 20 ซม.

ปัจจุบัน(31 ม.ค.) มีระดับน้ำอยู่ที่ 154.83 เมตร รทก. มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 7,743.82 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 81.43 และจะระบายให้เหลือที่ระดับ 138-140 เมตร รทก. หรือรองรับน้ำในฤดูฝนที่จะถึงนี้ได้ประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม.

นายธนรัชต์ กล่าวว่า การเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และภาคกลางได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งระบบ เนื่องจากยังมีปัจจัยจากระดับน้ำฝนที่ตกในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง และพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย

สำหรับการปรับแผนดังกล่าวจะส่งผลให้บริเวณที่ลุ่มท้ายเขื่อนสิริกิติ์ โดยเฉพาะพื้นที่ อ.พิชัย อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ มีน้ำเต็มตลิ่ง ซึ่งเขื่อนสิริกิติ์ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจลำน้ำ บริเวณที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบแล้ว แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหาย อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและฟังคำเตือนของทางราชการเพื่อลดความสูญเสีย

ด้านนายณรงค์ ไทยประยูร ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า การระบายน้ำในเดือน ม.ค.มีเป้าหมายระบายออก 1,650 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเดือน ก.พ.และ มี.ค.จะระบายน้ำเฉลี่ย 1,500 ล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 3,000 ล้าน ลบ.ม.และเดือน เม.ย.จะระบายน้ำประมาณ 780 ล้าน ลบ.ม.

"ถ้าการระบายน้ำเป็นไปตามที่กำหนดไว้ จะสามารถรับน้ำใหม่ได้ 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร หากมีมรสุมพัดผ่านประเทศไทยในเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม" นายณรงค์ กล่าว และว่า ปัจจุบัน (30 ม.ค.) เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 11,411 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณร้อยละ 85 ของความจุอ่าง

ทั้งนี้ การระบายน้ำเป็นไปตามแผนของคณะอนุกรรมการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้ง ที่กำหนดให้หลังจากเดือน ธ.ค.54 จนถึงปลายเดือน เม.ย.55 จะต้องระบายน้ำประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม.เพื่อเตรียมรองรับน้ำใหม่ที่จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน หรือตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป