posttoday

พม.เปิดโปรแกรมบำบัดผู้กระทำความรุนแรงฯ

02 กุมภาพันธ์ 2555

พม.เปิดโปรแกรมบำบัดผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว หลังพบสถิติครึ่งปีพุ่งสูง

พม.เปิดโปรแกรมบำบัดผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว หลังพบสถิติครึ่งปีพุ่งสูง

ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญญา (สวนโมกข์) จตุจักร  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมจัดเสวนา “กลไกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550  และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553” พร้อมทั้งเปิดตัวกิจกรรม “ความรุนแรงในครอบครัว เราเปลี่ยนได้”

โดย นายสมชาย  เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและสตรีในวงกว้างโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเกิดจากคนในครอบครัว ทำให้ผู้ถูกทำร้ายไม่กล้าไปร้องเรียนหรือไม่รู้ว่าต้องไปร้องเรียนที่ไหนกับใคร  รวมถึงความไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ จึงทำให้สภาพจิตใจและร่างกายได้รับความบอบช้ำผู้กระทำเองก็มีแนวโน้มกระทำความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น พม.จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดตัว “นวัตกรรม ผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว เราซ่อมได้”ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือผู้กระทำความรุนแรงโดยทาง พม.จะผลักดันพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาใช้ในการแก้ปัญหาความรุนแรงโดยจะสร้างเจ้าหน้าที่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำและบำบัดผู้กระทำความรุนแรง แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ยังขาดความรู้จึงทำให้ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ขณะนี้ พม.ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ได้รับความรุนแรงอย่างถูกต้องขึ้นโดยจะนำร่องทดลองในพื้นที่จังหวัดพังงาและกรุงเทพฯ เป็นเวลา1ปี เนื่องจากทั้งสองพื้นที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของปัญหาและขนาดพื้นที่ จากนั้นจะนำคู่มือดังกล่าวมาพัฒนาและปรับปรุงใหม่เพื่อใช้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ สำหรับผู้มีปัญหาหรือพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว สามารถแจ้งมาได้ที่ ศูนย์ประชาบดี หมายเลข 1300 หรือมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร.0-2513-2889

นายจะเด็จ   เชาวน์วิไล   ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล   กล่าวว่า  ในแต่ละปีมักพบว่า มีข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวมากถึง 300-400 ข่าว โดยส่วนใหญ่เป็นคดีทำร้ายร่างกาย  การฆ่ากัน ระหว่างสามีและภรรยา  ส่วนสาเหตุมาจากความหึงหวง และผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ชายหรือสามี  ในจำนวนนี้มีประมาณ 1 ใน 5 ที่มีปัจจัยการกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ผู้ก่อเหตุติดเหล้า  ดื่มเหล้าก่อนกระทำ  บางรายติดยาเสพติดร่วมด้วย  สอดคล้องกับ สถิติของศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และความรุนแรงในครอบครัว ในระหว่างเดือน มกราคม-มิถุนายน 2554 ที่พบว่า ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมีมากถึง  194 ราย  ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 อาจจะยังไม่ครอบคลุม ดังนั้นการสร้างกลไกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน โดยทางมูลนิธิฯและองค์กรภาคประชาชน พร้อมที่จะสนับสนุนและฟื้นฟูเพื่อลดปัญหาความรุนแรง ซึ่งเรามีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญ และมีผู้ชายต้นแบบที่เคยผ่านการกระทำความรุนแรงมาก่อน จนตอนนี้สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้แล้วและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษากับผู้ที่มีปัญหาได้

ศ.เกียรติคุณ พญ.เพ็ญศรี   พิชัยสนิธ นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวว่า พฤติกรรมส่วนบุคคล ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความรุนแรง ก้าวร้าว  ควบคุมตนเองไม่ได้  ขาดทักษะการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กมาจากครอบครัวที่ชอบใช้ความรุนแรง เช่น พ่อทำร้ายแม่ ด่ากัน พฤติกรรมเหล่านี้เด็กจะซึมซับโดยไม่รู้ตัว  และเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อโตไปมีครอบครัวจะมีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงกับครอบครัวตนเอง เช่นเดียวกับครอบครัวพ่อแม่ของตนเองเช่นกัน  ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน  เหมือนโรคติดต่อทางพันธุกรรม ทั้งๆที่พฤติกรรมใช้ความรุนแรงไม่ใช่โรคติดต่อที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่เป็นพฤติกรรมเลียนแบบที่น่าเป็นห่วงและจำเป็นต้องได้รับการบำบัดและฟื้นฟู เพราะไม่เช่นนั้นแล้วสังคมไทยจะมีแต่ครอบครัวที่นิยมใช้ความรุนแรงที่มาจากพฤติกรรมเลียนแบบของพ่อและแม่ได้

นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ กล่าวต่อว่า  หากจะมีการช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงต้องพัฒนาทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการแพทย์ กฎหมาย ด้านการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งต้องมีการทำงานที่ประสานกันโดยเฉพาะการส่งต่อ และเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการบำบัดและฟื้นฟูผู้ถูกกระทำ ซึ่งในอดีตยังไม่มีการจัดจัดคลินิกเพื่อการบำบัดและฟื้นฟูอย่างเป็นทางการ แต่จะมีการดูแลเป็นเฉพาะกรณีๆไป ทั้งๆที่ทุกโรงพยาบาลมีจิตแพทย์และเจ้าหน้าที่  ดังนั้นในวันนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงร่วมกันผลักดันให้สถานพยาบาลที่มีความพร้อมร่วมกันจัดตั้งคลินิก เพื่อบำบัดและฟื้นฟูผู้ถูกกระทำและผู้กระทำความรุนแรง โดยมีจิตแพทย์เป็นผู้ออกแบบโปรแกรมการรักษาที่มีเหมาะสมให้กับผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดและฟื้นฟู เพื่อให้บุคคลเหล่านี้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสมบูรณ์ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น