posttoday

เพิ่มผลผลิตในปีใหม่

13 มกราคม 2555

ปีใหม่อีกแล้วครับผม

ปีใหม่อีกแล้วครับผม

โดย..วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ปีที่ผ่านมามีทั้งที่ทำงานอย่างมีความสุข คือ สนุกกับงาน เมื่อมีความสุขก็ทำงานได้ผลมากขึ้น เรียกว่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น จะว่า “เพิ่มผลผลิต” ก็ได้

แต่หลายครั้งก็ทำงานด้วยความไม่สนุก เมื่อไม่สนุก ก็ไม่มีความสุขกับการทำงาน งานก็ไม่มีประสิทธิภาพ คือ งานผิดพลาดมากขึ้น และไม่มีมูลค่าเพิ่ม จะว่า “ผลผลิตลดลง” ก็ได้

ดังนั้น “การเพิ่มผลผลิต” จึงเป็นได้ทั้งเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในตัว เพื่อเราจะได้ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นและได้ผลงานเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญก็คือ “การเพิ่มผลผลิต” มักจะเกิดจาก “การคิดเพื่อปรับปรุงงาน”

ถ้าจะพูดให้ง่ายๆ ในกระบวนการบริหารจัดการแล้ว การเพิ่มผลผลิต (โดยพนักงาน) จะกระทำได้เมื่อพนักงานผู้ปฏิบัติงาน “รู้จักคิด” ด้วยการพยายามตอบคำถามว่า

1.“จะทำอย่างไร จึงจะทำงานได้มากขึ้น” (โดยเหนื่อยเท่าเดิม)

2.“จะทำอย่างไร จึงจะทำงานเหนื่อยน้อยลง แต่ได้งานเท่าเดิม”

แต่ถ้าจะให้ดีขึ้นกว่านั้นอีก เราจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “จะทำอย่างไร จึงจะทำงานได้มากขึ้น ด้วยความเหนื่อยน้อยลง”

คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบว่า “ทำอย่างไร” ที่เป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่เพียงแต่ “คิดแล้วเฉย” หรือ “ดีแต่วางเฉย แต่ทำไม่ได้ผล”

ดังนั้น ถ้าทำงานกันแบบเดิมๆ ทำงานตามแบบที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ หรือทำตามความเคยชินที่ทำกันมานานแล้ว ทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำโดยไม่คิดว่ามีปัญหา หรือสามารถจะปรับปรุงให้งานดีขึ้นได้ โอกาสที่จะเพิ่มผลผลิตหรือโอกาสที่จะเหนื่อยน้อยลง ก็เป็นไปได้ยาก

แสดงว่า การที่องค์กรจะเพิ่มผลผลิตได้ ทั้งผู้บริหารและพนักงานจะต้อง “ปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน” เสียใหม่ โดยยึดเป้าหมายของการเพิ่มผลผลิตเป็นแกนนำสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

การที่จะทำให้พนักงาน “คิดเป็น” และสามารถปรับปรุงงานได้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเรื่องการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ การปรับปรุงงาน

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ จึงมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการพัฒนาองค์กรและการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การเพิ่มผลผลิตและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ทุกองค์กร ซึ่งจะคงทนถาวรยิ่งกว่า

ทุกวันนี้ หลายๆ องค์กรยังคงทำงานกันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังเห็นได้จากการที่องค์กรยังคงใช้ศักยภาพของพนักงานแต่ละคนได้ไม่เต็มที่ และยังไม่สามารถลดความสูญเปล่าต่างๆ ลงได้เท่าที่ควร เพราะยังมี “ความผิดพลาดซ้ำซาก” แพร่กระจายอยู่ทั่วองค์กร

หลายๆ องค์กรดูเหมือนจะทำงานกันอย่างเต็มที่และสุดกำลัง ทุกคนทำงานกันจนเหนื่อยล้า แต่ได้ “ผลงาน” (หรือกำไร) นิดเดียว ผลลัพธ์ที่ได้จึง “ไม่คุ้มเหนื่อย” และทำให้ท้อไปตามๆ กัน

ทำไมเราไม่ลองหันมาสร้าง “องค์กรแห่งการเรียนรู้” และพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ (TQM) แบบไทยๆ กันอย่างถ่องแท้สักครั้ง เพื่อจะได้เป็น “องค์กรแห่งคุณภาพ” ที่สามารถเพิ่มผลผลิตโดยรวมได้อย่างยั่งยืน

และที่สำคัญในวันนี้ ก็คือ นอกจากเราจะต้องเน้นในเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานเพื่อการเพิ่มผลผลิตแล้ว เราจะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของ “การเพิ่มผลผลิตด้วยวิถีสีเขียว” ด้วย ครับผม!


&<2288;