posttoday

กฟผ.เร่งระบายน้ำ2เขื่อนใหญ่

12 มกราคม 2555

กฟผ.เร่งระบาย2เขื่อนตั้งแต่ต้นปี 1.18 หมื่นล้านลบ.ม. พร่องน้ำในอ่างฯเพื่อรอรับน้ำฝนฤดูใหม่

กฟผ.เร่งระบาย2เขื่อนตั้งแต่ต้นปี 1.18 หมื่นล้านลบ.ม. พร่องน้ำในอ่างฯเพื่อรอรับน้ำฝนฤดูใหม่

นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เริ่มระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ในช่วงฤดูแล้งเพื่อใช้ในการเพาะปลูกและเตรียมรอรับน้ำจากฤดูฝนปีนี้  โดยมีปริมาณการระบายน้ำรวม  11,865  ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)แยกเป็นจากเขื่อนภูมิพลปริมาณ  7,237 ล้าน ลบ.ม.  และ เขื่อนสิริกิติ์  ปริมาณ 4,630  ล้าน  ลบ.ม.

ในปี 2555 ปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ สิ้นสุดฤดูกักเก็บ ณ  31  ต.ค. 2554  รวมกันอยู่ที่  16,239 ล้านลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมา 6,611 ล้าน ลบ.ม. ทางคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ที่มีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงเริ่มวางแผนบริหารและจัดการน้ำในฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพ.ย.2554  เป็นต้นมา

ทั้งนี้ได้นำข้อมูลปริมาณความต้องการใช้น้ำเบื้องต้นซึ่งได้รับจากกรมชลประทานและ กฟผ. ที่ร่วมกันตรวจสอบปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้เพาะปลูกได้ในช่วงฤดูแล้งและและกิจกรรมการใช้น้ำ  ไปพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ให้ตรงตามความต้องการในการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้ง และกิจกรรมการใช้น้ำ เช่น การอุปโภค บริโภค รักษาสมดุลระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็มช่วงฤดูแล้ง

“แผนการระบายน้ำดังกล่าว นอกจากเป็นการวางแผนเพื่อประโยชน์สูงสุดในด้านการชลประทานแล้ว ยังส่งผลไปถึงการผลิตไฟฟ้าด้วย ขณะเดียวกันปริมาณการระบายน้ำที่กำหนดขึ้นในปีนี้ ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดภัยแล้งและการสำรองความจุในอ่างเพื่อรองรับปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่อาจมีมากในในช่วงฤดูฝนปีนี้เอาไว้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย”นายกิตติ กล่าว

นอกจากนี้เมื่อสิ้นสุดการระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง ซึ่งใกล้เคียงกับระดับน้ำเฉลี่ยของช่วงเวลาดังกล่าว คือ เขื่อนภูมิพลจะเหลือปริมาตรน้ำในอ่างฯ  56%  มีความจุสามารถรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีก 5,906 ล้านลบ.ม. และเขื่อนสิริกิติ์จะเหลือปริมาตรน้ำในอ่างฯ 58%มีความจุสามารถรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้อีก 4,007 ล้าน ลบ.ม.