posttoday

อุ้มแรงงานติดหนี้บัตรเครดิตพุ่ง-ศึกษาตั้งกองทุนประกันมีงานทำ

02 ธันวาคม 2554

“เผดิมชัย”ตั้งคณะทำงานช่วยเหลือแรงงานถูกน้ำท่วมเป็นหนี้บัตรเครดิต พร้อมศึกษาตั้งกองทุนประกันการมีงานทำแบบเดียวกับญี่ปุ่น-เกาหลี ชี้ไทยประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งขึ้น

“เผดิมชัย”ตั้งคณะทำงานช่วยเหลือแรงงานถูกน้ำท่วมเป็นหนี้บัตรเครดิต พร้อมศึกษาตั้งกองทุนประกันการมีงานทำแบบเดียวกับญี่ปุ่น-เกาหลี ชี้ไทยประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งขึ้น

นายเผดิมชัย      สะสมทรัพย์      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.)  เปิดเผยผลประชุมคณะทำงานกำหนดนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาจากสถานการณ์อุทกภัยว่า    ในที่ประชุมทางกรรมการฝ่ายลูกจ้างเสนอให้กระทรวงแรงงานออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เป็นหนี้บัตรเครดิต และหนี้ผ่อนชำระสินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น โดยเรื่องนี้ทางกระทรวงแรงงานก็จะรับไปศึกษาในรายละเอียดโดยเบื้องต้นจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในเชิงลึกเพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป

นอกจากนี้    กรรมการฝ่ายลูกจ้างยังได้เสนอให้ตั้งกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินรองรับลูกจ้างที่เดือดร้อนในช่วงวิกฤติ  ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาถึงความเป็นไปได้ โดยให้นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)และสำนักงานประกันสังคม(สปส.)

“ขอให้สบายใจได้ว่าลูกจ้าง 90% ใน  3  นิคมอุตสาหกรรมในจ.พระนครศรีอยุธยาได้กลับเข้าสู่ระบบการทำงานแล้ว  ตอนนี้มีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมีแค่  10,900 คนในสถานประกอบการ 39 แห่ง แต่มีตำแหน่งงานในประเทศรองรับได้กว่า 1.3 แสนอัตรา” รมว.แรงงาน กล่าว

นายอาทิตย์    อิสโม     อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)  กล่าวว่า  โดยส่วนตัวตนมีแนวคิดที่เสนอให้จัดตั้งกองทุนประกันการมีงานทำ เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีการส่งเงินสมทบ 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างในลักษณะเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข    ซึ่งจะช่วยให้ลูกจ้างมีรายได้ในช่วงหยุดงาน ทั้งนี้  อาจจะร่วมกับกองทุนประกันการว่างงานในการให้สิทธิประโยชน์เพราะปัจจุบันกองทุนนี้จะให้สิทธิ์เฉพาะผู้ที่ถูกเลิกจ้างแต่ไม่ครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างที่ต้องหยุดงาน   แต่ไม่ถูกเลิกจ้าง  โดยอาจมีการแก้พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้สามารถโยกเงินจาก 2  กองทุนนี้มีมาจ่ายสิทธิประโยชน์ร่วมกันได้

รวมไปถึงอาจกำหนดให้มีการจ่ายเงินสมทบทั้ง 2 กองทุนโดยไม่กระทบกับลูกจ้างมากนัก เนื่องจากปัจจุบันลูกจ้างส่งเงินสมทบเข้าในกองทุนนี้อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อหักจากกองทุนรวมของประกันสังคมที่จ่ายอยู่ที่ร้อยละ 5 แล้ว  ซึ่งอาจจะจ่ายใน 2  กองทุนรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 0.6-0.7 หรือมากน้อยกว่านั้นตามความเหมาะสม

“ตอนนี้กำลังศึกษารูปแบบกองทุนประกันการมีงานทำของประเทศต่างๆเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีที่มีเหตุการณ์ภัยบัติบ่อยครั้งอย่างเกาหลีก็มีกองทุนลักษณะนี้และจ่ายให้ลูกจ้างในยามวิกฤติร้อยละ 60-80 ขณะนี้ประเทศไทยก็เริ่มมีเหตุการณ์ภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยควรมีกองทุนลักษณะนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดข้างต้นของผม  จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์  เพื่อสอบความความคิดเห็นของรัฐบาล  สปส.และผู้ประกันตนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่  ก่อนที่จะส่งมอบต่อให้นักวิชาการทำการศึกษาผลดีผลเสียต่อไป” อธิบดีกสร. กล่าว