posttoday

สพฉ.จัดรถ-เรือกู้ชีพช่วยผู้ป่วยน้ำท่วม

23 พฤศจิกายน 2554

สพฉ. จัดรถออฟโรด-ยีเอ็มซี-เรือกู้ชีพ กระจายกว่า 10 จุด ในพื้นที่น้ำท่วมสูง เผยตั้งแต่ 5 พ.ย. รับแจ้ง 5 พันสาย ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้กว่า 253 ราย

สพฉ. จัดรถออฟโรด-ยีเอ็มซี-เรือกู้ชีพ กระจายกว่า 10 จุด ในพื้นที่น้ำท่วมสูง เผยตั้งแต่ 5 พ.ย. รับแจ้ง 5 พันสาย ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้กว่า 253 ราย

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่ต่อเนื่องและยาวนานส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยเรื้อรังที่ติดอยู่ในพื้นที่  สพฉ. จึงวางแผนช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ คือช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนถึงโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นในเขตพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังยาวนาน พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้รับการสนับสนุนจากชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ทั้งในส่วนของรถ เรือ และอากาศยาน

“เพื่อความครอบคลุมในการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินได้รวดเร็ว และทันท่วงที จึงได้กระจายชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำ รถออฟโรด และรถยีเอ็มซีของกรมแพทย์ทหารบก กว่า 10 จุด ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังสูง อาทิ เรือกู้ชีพเจ้าฟ้า จ.กระบี่ ,เรือกู้ชีพจุฬามณี ,เรือกู้ชีพประจักษ์ , เรือกู้ชีพคลองท่อม , เรือกู้ชีพจุด รพ.สินแพทย์ ทีมออฟโรดมูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลธรรมสถาน ทีมออฟโรดหน่วยบินอาสา ทีมกู้ชีพรพ.อุตรดิตถ์ ทีมกู้ชีพ รพ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นต้น”

นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2554  สพฉ.รับสายด่วนช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและให้คำแนะนำด้านการแพทย์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 5,904 สาย และได้ประสานการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาล โดยเป็นการลำเลียงผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยรถยนต์ 225 เที่ยว จำนวน 253 ราย และสนับสนุนการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเรือ 62 เที่ยว จำนวน 65 ราย

ทั้งนี้ตั้งแต่เปิดศูนย์บูรณาการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินตอบโต้ภัยพิบัติแห่งชาติ หรือศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินดอนเมือง 84 ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม  ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งระบบส่งต่อผู้ป่วยหนักวิกฤติ และดูแลผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ ทั้งทางรถ เรือ และอากาศยาน แล้วจำนวน 1,874 ราย  อย่างไรก็ตามผู้ป่วยฉุกเฉินหรือผู้ประสบเหตุสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง