posttoday

ยังไม่มีการจัดการน้ำ

18 พฤศจิกายน 2554

ยังจะมีความสำเร็จใดๆ ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำที่ผมอาศัยอยู่ และลุ่มน้ำต่างๆ ที่ผมรู้จักหรือเคยสัมผัสมา ให้สามารถเอ่ยอ้างได้บ้างหรือไม่?

ยังจะมีความสำเร็จใดๆ ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำที่ผมอาศัยอยู่ และลุ่มน้ำต่างๆ ที่ผมรู้จักหรือเคยสัมผัสมา ให้สามารถเอ่ยอ้างได้บ้างหรือไม่?

โดย..สุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ยังจะมีความสำเร็จใดๆ ในการบริหารจัดการลุ่มน้ำที่ผมอาศัยอยู่ และลุ่มน้ำต่างๆ ที่ผมรู้จักหรือเคยสัมผัสมา ให้สามารถเอ่ยอ้างได้บ้างหรือไม่?

ตัวผมเองในฐานะประชากรแห่งลุ่มน้ำแม่กลองที่มีความยาวสายน้ำ 526 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3 หมื่นตารางกิโลเมตร และตัวผมเองในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ในคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำของวุฒิสภาแห่งประเทศไทย อยากจะกล่าวว่า มันเต็มไปด้วยปัญหามากมายตั้งแต่ลำน้ำเล็กๆ ที่สุดที่เรียกว่า “ลำประโดง” ที่อยู่หลังบ้านผมเอง ซึ่งแยกมาจากคลองเล็กๆ ที่แยกมาจากคลองขนาดใหญ่ ซึ่งแยกตัวมาจากแม่น้ำอีกทีหนึ่งไปจนถึงแม่น้ำใหญ่ หรือแม่น้ำนานาชาติอย่างแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำสาละวิน

เหตุเพราะการเข้าไปวุ่นวายจัดการโดยคนนอกกันนี่แหละ ประเทศเรามีหน่วยงานกรมชลประทานมากว่า 100 ปีแล้ว ถึงบัดนี้เรามีหน่วยงานที่เกี่ยงข้องอยู่กับน้ำตั้งแต่ยอดเขาถึงทะเลอยู่ประมาณ 22 หน่วยงาน 9 กระทรวง และมีพรมแดนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มิอาจก้าวล่วงได้ของหน่วยงานระดับกรมและกระทรวงต่างๆ ทำให้เกิดภาวะที่สำนวนไทยโบราณเรียกว่า “ยุ่งเป็นลิงแก้แห” นึกภาพออกไหม ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งพันตัวแน่นขึ้นจนลิงตัวนั้นขยับตัวไม่ได้ ออกจากแหไม่ได้

ยังไม่มีการจัดการน้ำ

 

หากจำนวนปัญหาบอกถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาและบริหารจัดการลุ่มน้ำได้ดีที่สุดละก็ ผมรับรองได้ว่าเราก้าวหน้ากว่าใคร เรามีตัวอย่างของปัญหาข้อขัดแย้งในการบริหารจัดการน้ำ จัดการพลังงาน และจัดการทรัพยากรนับร้อยนับพันกรณีศึกษา อันเป็นผลพวงจากการพัฒนาโดยคนนอก

ในขณะที่ธรรมชาติแสดงตัวตนให้เราเห็นอาการในลักษณะที่เป็นวัฏฏะ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง คือ เกิดขึ้น เปลี่ยนแปร ดับ แล้วก็เกิดขั้นอีก ทั้งระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องอยู่กับชีวิตของพืช สัตว์ และคน ตลอดทั้งดาวเคราะห์ดวงนี้ และในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันหมุนเวียนนี้ ธรรมชาติก็มีการปรับเข้าหาสมดุลอันต่อเนื่อง

ความจริงคือ ธรรมชาติก็มีแต่ความพอดี ความสมดุล และเรามนุษย์ผู้มีปัญญาก็ต้องหาทางปรับตัว ปรับสมดุลของเราให้สอดคล้องเข้าใจเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องว่านี่เป็นธรรมชาติที่ยั่งยืนเก่าแก่กว่าตัวเรา เราไม่อาจสมปรารถนาได้ทั้งหมด เราปรับตัวดัดแปลงได้บ้างตราบใดที่การปรับตัวดัดแปลงนั้นไม่ทะเยอทะยานเกินไป จนไปตัดห่วงโซ่ของกระแสธรรมชาติ อันเป็นวิธีคิดของคนใน คือคนในลุ่มน้ำที่แท้จริง

นี่คือตัวอย่างของการปรับตัวให้สอดคล้องกับลีลาของธรรมชาติ

เมืองสมุทรสงคราม (แม่กลอง) ตั้งอยู่ปากแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากดินตะกอนที่สายน้ำแม่กลองอุ้มพามาจากป่าต้นน้ำ ผ่านที่ลาดชันลงสู่ทุ่งราบ จนถึงพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณปากแม่น้ำ ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองปากแม่น้ำที่เป็นที่ราบลุ่ม ต้องต่อสู้กับน้ำหลากในช่วงเดือน ก.ค.ต.ค.ของทุกปี ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ร่วมกับน้ำทะเลในอ่าวไทยชั้นในสุด คือ อ่าว ก.ไก่ ซึ่งเป็นทะเลภายใน ทะเลตม ทะเลตื้น ซึ่งน้ำทะเลจะยกตัวสูงขึ้นประมาณ 3.9 เมตร ในช่วงเดือน ต.ค.ม.ค. ที่น้ำหลากทั้งหมดไปสะสมอยู่ในทะเล

บรรพชนผู้ชาญฉลาดของเราจึงสร้างบ้านแปลงเมืองให้สามารถอยู่ร่วมกับระบบนิเวศปากแม่น้ำ แบบนี้โดยการทำการเกษตรแบบทำดินยกร่องให้มีพื้นที่อาศัยของน้ำและมีพื้นที่ปลูกพืชที่เหมาะสมกัน และเราอยู่บ้านใต้ถุนสูงให้น้ำลอดได้ในหน้าน้ำหลาก เราก็เลยอยู่เย็นเป็นสุข สามารถตั้งถิ่นฐานและทำการเกษตรทำการประมงที่สอดคล้องกับลีลาของธรรมชาติ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงของอาหาร จนได้เป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดของประเทศนี้

คนฉลาดไม่ต่อสู้กับกลไกอันใหญ่โตของธรรมชาติที่ทำให้ชีวิตอันแสนสั้นต้องเสียเวลาไป หากแสวงหาปัญญาที่จะอยู่ร่วมให้สอดคล้อง เพราะเราเป็นผู้อาศัยชั่วคราว

ทีนี้มาดูพวกผู้คนที่ทะเยอทะยาน อยู่ยาก เลี้ยงยาก พอใจอะไรยาก

พวกคนเขลาคิดว่า การปล่อยให้กระแสน้ำไหลอย่างอิสระไม่เป็นประโยชน์ โดยเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพราะเขาเห็นน้ำไม่ครบถ้วนถึงสิ่งที่น้ำอุ้มมาด้วย คือ ตะกอน แร่ธาตุ สารอาหาร หรือโอชะของดิน

มนุษย์ที่เกิดและติดอยู่บนดาวเคราะห์พเนจรดวงนี้ไม่พอใจ ติเตียนว่าตรงนั้นตรงนี้ควรมีน้ำให้พอกับความต้องการของเขาทุกเวลา โดยยังมองน้ำในมิติเดียว คือ มิติของปริมาตรหรือจำนวน ซึ่งเขาจะต้องเข้าไปบริหาร จัดวาง โยกย้ายได้ดังใจ เพราะมันขาดตรงนั้น มันเกินตรงนี้ เขาต้องการน้ำเป็นก้อนๆ เริ่มสร้างโวหารวาทกรรมขึ้นมา เราต้องมีเขื่อนยักษ์ เขื่อนอเนกประสงค์ เพื่อให้ได้ไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วม แก้ปัญหาน้ำแล้ง ขยายพื้นที่เพาะปลูก ขยายเขตชลประทาน ทำมา 100 กว่าปี มีพื้นที่ในเขตชลประทาน 38 ล้านไร่ นอกเขตชลประทานมีกว่า 100 ล้านไร่

ทุกลุ่มน้ำในประเทศของเราที่มีเขื่อน มีประตูควบคุมน้ำมากมาย ยังคงเดิมน้ำยังท่วมไม่เป็นจังหวะ แล้งไม่เป็นจังหวะ แต่ทวีความรุนแรงทำลายล้างสูงขึ้น ปีที่ผ่านมาเราประสบปัญหาน้ำท่วมกว่า 40 จังหวัด จาก 76 จังหวัด ทั้งที่อยู่ในเขตชลประทานนั่นแหละ ไม่เคยควบคุมอะไรได้จริงหรอก เป็นแต่เรื่องสมมติ พร้อมกับมีเสียงเรียกร้องให้สร้างเพิ่มอีกมากๆ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งประชาชนเรียกร้องให้เปิดเขื่อน ปลดปล่อยเสรีภาพให้กับสายน้ำ และวงจรชีวิตปลา

เราจะไปทางไหนดี

เราต้องเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวให้มาก และปลูกหลายครั้งในรอบปีจนแผ่นดินทนทานไม่ไหว ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เป็นแสนล้านบาทต่อปี ต้องหิวน้ำหิวไฟฟ้าเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ในนามอันศักดิ์สิทธิ์ของการพัฒนาแบบหยาบคายแข็งกระด้าง และพากันเป็นโรคกลัวน้ำ ทั้งที่เราเป็นประเทศในเขตมรสุม ไม่สามารถอยู่ร่วมกับน้ำโดยการอยู่บ้านใต้ถุนสูง การใช้พาหนะเรือแพ และการขนส่งทางน้ำ ในขณะที่สัตว์น้ำสัตว์บกต่างๆ สูญหายไปเรื่อยๆ

บริษัทขนาดยักษ์บอกเราว่าเพาะเลี้ยงทดแทนได้ แต่สัตว์เหล่านั้นก็ยังคงต้องกินอาหารในห่วงโซ่อาหารเดิมนั่นแหละ เพียงแต่แปลงกายมาในรูปอาหารเม็ด และถูกควบคุมทั้งวงจรตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ อาหาร ยา อุปกรณ์การเลี้ยงทุกอย่าง โดยการทรมานรุนแรงขึ้นทั่วแผ่นดินแผ่นน้ำ

ในนามอันศักดิ์สิทธิ์ของการพัฒนาและวาทกรรมที่ว่าตั้งแต่ภูผา ป่าไม้ สายน้ำ จนถึงทะเลต้องบริหารจัดการ เสมือนว่าไม่เคยมีการบริหารจัดการดูแลมาก่อนเลย

เราชาวเอเชีย เราคนไทย เราเรียกผู้มีบุญคุณเลี้ยงดูเราทุกสิ่งว่า “แม่” เราจึงเรียกแม่น้ำ แม่คงคา ผู้ประทานน้ำให้เรา และธาตุน้ำโดยลักษณะอาการกิริยาที่แสดงออก เราถือว่าเป็นเพศหญิง ด้วยลักษณะอาการที่อ่อนโยน แผ่กระจาย ไหลซ่าน เชื่อมโยงประสาน ทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปรได้หลายสถานะ ทั้งเยือกเย็นเป็นน้ำแข็ง อ่อนโยนเข้าได้กับทุกรูปทรงภาชนะที่บรรจุรองรับอยู่ และสามารถเดือดอย่างร้อนแรงจนกลายเป็นไอ

นี่คืออาการของเพศหญิง เพศของแม่

จึงต้องเคารพนับถือ มิอาจกระทำโดยปราศจากความนอบน้อม อย่าว่าแต่การสร้างเขื่อนแข็งหยาบกระด้างไปกีดขวางสายน้ำ เขื่อนซึ่งโดยลักษณะอาการที่ลุกฟูขึ้น สูงขึ้นในอากาศแข็งแกร่งกระด้าง เป็นอาการของเพศชาย ซึ่งโดยตรรกะนี้ ย่อมไม่อาจเอาชนะเพศหญิงได้ นอกจากเป็นการทำลายตัวเองในระยะยาว เพราะเราไม่รู้จักน้ำตามความเป็นจริง ในฐานะผู้ค้ำจุนระบบนิเวศ ผู้ค้ำจุนความมั่นคงทางอาหาร

บัดนี้ ผู้คนของเรา ลูกหลานของเรากำลังเปลี่ยนไป กลายเป็นคนอยู่ยาก เลี้ยงยาก ทะเยอทะยาน ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามความอยากความต้องการไร้ขอบเขต ตามกระแสอันเชี่ยวกรากของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมิใช่โลกไร้พรมแดนหรอก แต่เป็น “ความโลภไร้พรมแดน” ต่างหาก

ผมอยากจะสรุปว่า หลักในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าในระดับลำน้ำย่อย ลำน้ำใหญ่ระดับลุ่มน้ำทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ อาจสรุปลงได้ในหลักการใหญ่อันเดียว ก็คือ

“ทำอย่างไรให้น้ำไหล อย่าให้น้ำนิ่ง อย่าพยายามตัดกระแสไหลเป็นส่วนเป็นท่อน”

การพัฒนาอย่างมีความอ่อนตัวยืดหยุ่นนุ่มนวล การปรับการดัดแปลงกระทำได้ไม่มาก ต้องใช้โครงสร้างอ่อน หรือโครงสร้างเล็กกระจายออกไป ไม่ใช้โครงสร้างแข็งขนาดใหญ่เชิงเดี่ยว ต้องทำไปบนความสอดคล้อง จึงจะสร้างสมดุลที่เป็นพลวัต หรือสมดุลบนความเปลี่ยนแปรอันต่อเนื่องได้

หมายเหตุ : บทความนี้ตัดตอนจากปาฐกถานำการสัมมนานานาชาติว่าด้วยการจัดการลุ่มน้ำ

&<2288;